งานพิมพ์ออกมาย้วยหรือไม่ได้รูปทรง
หลายคนคงเคยเจอปัญหาที่พิมพ์งานลักษณะรูปทรงแหลม แล้วปลายยอดของงานพิมพ์นั้นไม่ได้รูปทรงหรือแหลมอย่างที่ควรเป็น ปัญหานี้เกิดมาจากความร้อนที่สะสมอยู่สูงเกิน รวมไปถึงการพิมพ์งานที่เร็วเกินไปซึ่งการแก้ใขปัญหานี้สามารถทำได้โดย
- เพิ่มความแรงของพัดลมเป่างาน พัดลมเป่างานนั้นจะเหมาะกับพลาสติกประเภท PLA เพราะพลาสติกชนิดนี้นั้นร้อนเร็วแต่เย็นตัวช้า ดังนั้นถ้างานที่พิมพ์มีลักษณะที่ฐานด้านล่างใหญ่ ด้านบนเล็ก ก็ควรเปิดพัดลมเป่างานให้แรงขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้พลาสติกได้เย็นตัวทัน
- ความร้อนที่พิมพ์งานนั้นสูงเกินไป ซึ่งถ้าพิมพ์งานแบบนี้ ก็ควรเฝ้าดูงานด้วยว่าใกล้จะพิมพ์ถึงส่วนที่เป็นยอดแหลม ถ้าใกล้ถึงก็ควรลดอุณหภูมิลง ซึ่งในบางโปรแกรมเช่น Simplify3D นั้น สามารถที่จะกำหนดในอุณหภูมิในจุดที่ผู้ใช้ต้องการได้ ยกตัวอย่าง พิมพ์งานในช่วงปกติใช้อุณหภูมิ 200 องศา พอใกล้ถีงส่วนยอดหรือส่วนบนสุด โปรแกรมจะสั่งให้ลดอุณหภูมิลงมาตามที่ตั้งเอาไว้ โดยไม่ต้องอยู่รอเปลี่ยนด้วยคัวเอง
- พิมพ์งานเร็วเกิน ก็เป็นสาเหตุให้งานพิมพ์เสียรูปทรง อันนี้เป็นตัวอย่างที่ผมใช้อธิบายลูกค้าเป็นประจำ สมมุติว่าพิมพ์งานรูปพีระมิด ถ้าผู้ใช้ไม่ได้กำหนดค่าอะไร ตอนพิมพ์ใกล้ถึงยอดแหลม หัวพิมพ์จะพิมพ์เร็วขึ้น เป็นเพราะว่า พื้นที่ในการพิมพ์น้อยลง ซึ่งปัญหาก็คือ เลเยอร์ด้านล่างยังไม่เย็น หัวพิมพ์ลงมาเติมพลาสติกในเลเยอร์ต่อไป ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้ยอดแหลมนั้นเสียรูปเพราะความร้อนที่สะสม ซึ่งจริงๆแล้ว โปรแกรมหลายๆตัว มีหัวข้อในการช่วยในส่วนนี้ ใน Cura เรียกว่า Minimum Layer time มีหน่วยเป็นวินาที เช่น 10 หมายความว่า ถ้าโปรแกรมคำนวนแล้ว หัวพิมพ์สามารถที่จะพิมพ์งานในเลเยอร์นั้นได้เร็วกว่า 10 วินาที โปรแกรมจะบังคับให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่หรือพิมพ์งานให้ช้าลง เพื่อเป็นการดึงเวลาให้งานเย็นตัวก่อนที่จะพิมพ์ชั้นต่อไป
- หลีกเลี่ยงการพิมพ์งานเล็กๆ ชิ้นเดียว อันนี้ก็เป็นตัวช่วยอีกตัวหนึ่งเพราะว่า การพิมพ์งานนั้น ถ้าพิมพ์งานหลายๆชิ้น หัวพิมพ์จะพิมพ์ทั้งเลเยอร์ ไม่ว่างานจะมีกี่ชิ้นก็ตาม ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นการดึงเวลาให้งานที่พิมพ์อยู่ก่อน เย็นตัวก่อน เพราะหัวพิมพ์ขยับไปพิมพ์งานชิ้นอื่น เมื่อพิมพ์หมดทั้งเลเยอร์ ก็จะกลับไปพิมพ์งานในเลเยอร์ต่อไป ซึ่งพอกลับมาพิมพ์ พลาสติกก็แข็งตัวเรียบร้อยแล้ว