ปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาหลักของเครื่องปริ้น 3D ระบบ SLA หรือเรซิ่น ซึ่งสาเหตุหลักๆของปัญหานี้อาจเกิดได้จาก
เวลาฉายไม่เพียงพอ
เรซิ่นแต่ละแบบหรือแต่ละยี่ฮ้อ จะมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน รวมถึงความหนืด ซึ่งจะมีผลต่อการแข็งตัวของเรซิ่น ถ้าระยะเวลาในการฉายแสงที่ไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เรซิ่นไม่แข็งตัว หรือว่าแข็งไม่เต็มที่ ซึ่งการการปัญหาก็คือ ให้เพิ่มระยะเวลาในการฉายให้มากขึ้น ถ้าเรซิ่นไม่ติดฐาน ก็ให้เพิ่มระยะเวลาในการฉายในส่วนของ Bottom Exposure Time ให้มากขึ้น แต่ถ้าเรซิ่นติดฐานแล้ว แต่มีบางส่วนไม่แข็ง หรือเป็นแบบวุ้นๆ ก็ให้เพิ่มระยะเวลาในการฉายในส่วนของ Exposure Time ให้มากขึ้น
เรซิ่นที่ใช้หมดอายุ
เรซิ่นทุกตัวจะมีวันหมดอายุ โดยทั่วไปแล้ว เรซิ่นถ้ายังไม่ได้เปิดหรือเทออกจากขวดเลย ส่วนมากจะมีอายุประมาณ 12 เดือน แต่ถ้ามีการเปิด โดนแสง และอากาศ จะทำให้เรซิ่นเสื่อมคุณภาพหรือหมดอายุเร็วขึ้น จาก 12 เดือนหรือ 6 เดีอน ดังนั้น ถ้าเปิดขวดเรซิ่นแล้วก็ควรที่จะรีบใช้ให้หมด แต่ถ้าใช้ไม่หมด ก็ควรเก็บรักษาให้ดี โดยการปิดฝา และเก็บให้ห่างจากแสงแดด ก็จะช่วยยืดอายุเรซิ่นได้
สำหรับเรซิ่นที่นอนอยู่ในถาด ถ้าไม่ได้ใช้งานนาน จะเกิดการแบ่งชั้นระหว่างสีและเรซิ่น ซึ่งถ้าเกิดแบบนี้ ให้ทำการผสมเรซิ่นให้เข้ากันก่อน โดยใช้เกรียงพลาสติก คนที่เรซิ่น จนกว่าเรซิ่นกับสีจะเข้ากัน แต่ถ้ากวนแล้วยังไม่เข้ากัน ก็สามารถใช้นิ้วในการคนได้ แต่ต้องใส่ถุงมือประเภทไนไตรด์ก่อนทุกครั้ง ที่ทำการกวนเรซิ่น
มี IPA หรือแอลกฮอล์ ปนอยู่ในน้ำยาเรซิ่น หรือเคลือบอยู่บนฐานพิมพ์
บางครั้งการล้างเรซิ่นโดย IPA บนฐานพิมพ์ ถ้าล้างออกไม่หมด จะมีฟิลม์ของ IPA เคลือบอยู่บางๆ ซึ่งทำให้งานพิมพ์ไม่ติดฐานได้ ดังนั้นก่อนที่จะพิมพ์งานทุกครั้ง ก็ควรที่จะเช็ดฐานพิมพ์ให้สะอาดก่อนทุกครั้ง
นอกจากนั้น การล้างถาดเรซิ่นด้วย IPA ถ้าเท IPA ออกจากถาดไม่หมด เวลาเทเรซิ่นลงไป ตัว IPA จะไปทำปฎิกริยากับเรซิ่นและทำให้เรซิ่นจางลง ซึ่งทำให้เรซิ่นเสื่อมคุณภาพ จนทำให้งานพิมพ์ไม่ยอมติดกับฐาน ดังนั้น หลังจากล้างเรซิ่นในถาด ก็ควรจะเช็ดให้แห้ง แล้วเป่าด้วยลม เพื่อไล่ IPA หรือ แอลกฮอล์ให้ออกไปจากถาดน้ำยาเรซิ่นให้หมด
มีเศษเรซิ่นตกค้างในถาดน้ำยา
สาเหตุส่วนใหญ่ของงานพิมพ์ไม่ติดฐาน เกิดจากการมีเศษเรซิ่น ตกค้างในถาดน้ำยาเรซิ่น ทำให้ฐานพิมพ์ไม่สามารถแนบชิดกับหน้าจอได้สนิท เกิดช่องว่าง ทำให้เวลาพิมพ์ งานจะไม่ติดฐาน ซึ่งวิธีการแก้ไข ก็คือ ทำการกรองเรซิ่นก่อนทุกครั้งที่จะพิมพ์งาน
การที่มีเศษเรซิ่นตกค้างในถาดน้ำยา เกิดได้จากการที่มีเรซิ่นบางส่วนแข็งตัวไม่เต็มที่ ทำให้หลุดออกจากงาน รวมไปถึงการลืมใส่ Support ในส่วนที่ยื่นออกมา ทำให้มีเศษตกค้างในถาดเรซิ่น
ฐานพิมพ์ลื่นเกินไป
สำหรับปัญหานี้มักจะเกิดกับ คนที่ได้เครื่องไปใหม่ๆ หรือเครื่องที่ไม่เคยใช้งานเลย เพราะตัวฐานพิมพ์ จะลื่น ทำให้งานพิมพ์ไม่ติดกับฐาน ถ้าเกิดกรณี ให้เอากระดาษทรายเบอร์ 800 ลูบและขัดไปที่ตัวฐานเพื่อให้เกิดรอยสาก บนฐานพิมพ์ จะทำให้งานพิมพ์ติดกับฐานได้ดี
ฐานพิมพ์ไม่ชิดกับหน้าจอ
สำหรับเครื่องพิมพ์เรซิ่น การ Calibrate ฐานพิมพ์จะทำได้โดยการเอาฐานพิมพ์ลงมาให้ชิดกับหน้าจอ แล้วขันน็อตเพื่อปรับระดับฐานพิมพ์ให้ได้ระนาบเดียวกันกับหน้าจอ ซึ่งถ้าฐานพิมพ์ตั้งไม่ได้ระนาบ จะทำให้งานพิมพ์ติดฐานได้ไม่เต็มพื้นที่ อาจจะติดแค่บางส่วน ซึ่งวิธีการ Calibrate ก็ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ฮ้อเครื่องที่ใช้ การ Calibrate นั้นจะทำก็ต่อเมื่อ ได้ทำตามข้อด้านบนหมดแล้ว ก็ยังไม่ได้ผล ก็ค่อยมาทำการ Calibrate ฐานพิมพ์
หลอด UV LED หรือหน้าจอแสดงภาพ เกิดการเสียหายหรือเสื่อมสภาพ
อุปกรณ์ที่ทำให้เรซิ่นแข็งตัวมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน นั้นก็คือชุดฉายแสง UV และ หน้าจอ LCD สำหรับแสดงภาพและปล่อยให้แสง UV ผ่านไปที่ตัวน้ำยาเรซิ่น ซึ่งในกรณีที่งานพิมพ์ไม่ติดฐาน อาจเกิดจากชุดฉายแสง UV เสื่อมสภาพ หรือเสียหาย ซึ่งการเสื่อมสภาพของชุดฉายแสง UV นั้นจะขึ้นอยู่กับการใช้งานเครื่องและการระบายความร้อน ถ้าเครื่องที่ใช้บ่อยๆ อายุการใช้งานของหลอด UV LED ก็จะถดถอยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งสังเกตุง่ายๆ ก็คือแสงที่ปล่อยออกมา จะมีความสว่างน้อยลง ส่วนชุดแสดงภาพที่เป็นหน้าจอ LCD นั้น ก็มีอายุการใช้งานเหมือนกัน ถ้าเป็นหน้าจอแบบสี ก็จะเสื่อมสภาพเร็วหน่อย ประมาณ 500 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นหน้าจอขาว-ดำแบบ Mono ก็จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยที่ 2000 ชั่วโมง
เครื่องส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์ สำหรับปล่อยแสงออกมา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสังเกตุดูว่า หน้าจอที่ใช้เสื่อมหรือยัง ซึ่งอาการเสื่อม ส่วนใหญ่ที่เจอก็คือ มีพื้นที่บางส่วนดับไป เป็นหย่อมๆ ถ้าเกิดอาการแบบนี้ ให้เตรียมเปลี่ยนหน้าจอได้เลย สำหรับชุดหลอด UV LED ถ้าเกิดอาการเสื่อม ก็ตรวจเช็คง่ายๆ คือ เมื่อก่อนใช้เวลาเท่านี้ เรซิ่นก็แข็งแล้ว แต่พอนานๆไป ใช้เวลาเท่าเดิม เรซิ่นยังไม่แข็ง อันนี้ก็สามารถบ่งบอกได้ว่า ชุด UV LED เริ่มจะเสื่อมสภาพแล้ว ซึ่งถ้าไม่อยากเปลี่ยน ก็อาจจะไปเพิ่มเวลาในส่วนของ Exposure Time ให้มากขึ้น