1. Home
  2. Knowledge Base
  3. เครื่อง Bambu Lab P1 Series
  4. เรียนรู้ส่วนประกอบเครื่อง P1P / P1S

เรียนรู้ส่วนประกอบเครื่อง P1P / P1S

สำหรับคนที่ซื้อเครื่อง Bambu Lab P1P หรือ P1S ไป ทางร้านอยากจะแนะนำส่วนประกอบต่างๆของเครื่อง เพื่อที่จะได้เรียนรู้ ว่าแต่ละส่วนคืออะไร และมีหน้าที่อย่างไร เวลาเครื่องมีปัญหา จะได้สามารถปรึกษากับทางทีมงาน ได้อย่างถูกต้องและตรงตำแหน่ง

เครื่องพิมพ์ 3 มิติ P1P / P1S ทำงานอย่างไร?

สำหรับเครื่องรุ่น P1P เป็นเครื่องที่ต่อยอดมากจากเครื่องรุ่น X1 Series เป็นเครื่องที่มีขนาดพื้นที่ในการพิมพ์เท่ากัน สามารถที่จะต่อ AMS (ตัวพิมพ์หลายสี) ได้ ซึ่งจุดเด่นของเครื่อง P1P ก็คือ เป็นเครื่องแบบเปิด ไม่มีฝาปิด และมีราคาที่ถูกกว่ารุ่น X1 Series เพราะมีการตัดเซนเซอร์ Lidar ออก แล้วใช้หัวพิมพ์กับชุดเฟืองดันเส้นแบบธรรมดา ที่ไม่ได้ชุบแข็ง ส่วนการควบคุม จะผ่านหน้าจอพร้อมปุ่มกด ซึ่งจะไม่เหมือนกับรุ่น X1 Series ที่ใช้หน้าจอ Touch Screen

สำหรับรุ่น P1S นั้นเป็นรุ่นล่าสุด ที่เอาเครื่องรุ่น P1P มาปิดฝารอบตัวเครื่อง และติดพัดลมแบบ Close Loop ที่สามารถปรับความเร็วรอบได้ ซึ่งตัวเครื่อง P1P ก็สามารถที่จะ Upgrade เป็นเครื่องรุ่น P1S ได้

การสั่งงานของเครื่องทั้ง 2 รุ่น จะต้องมีไฟล์สั่งงาน ซึ่งตัวไฟล์นี้ สามารถสร้างได้จากโปรแกรม Bambu Studio สำหรับโปรแกรม Bambu Studio จะเป็นโปรแกรมที่เรียกว่า Slicer ซึ่งมีหน้าที่ แปลงไฟล์โมเดล 3 มิติ ที่มีนามสกุล .STL หรือ . OBJ มาเป็นไฟล์ที่เครื่องสามารถอ่านได้ ซึ่งในไฟล์ที่ผ่านโปรแกรม Slicer มา ก็จะบรรจุไปด้วยคำสั่งให้หัวพิมพ์เดิน รวมไปถึง ความร้อนของหัวฉีด ความเร็วในการพิมพ์ ซึ่งการใช้งานโปรแกรม Bambu Studio สามารถเข้าไปศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Link นี้

การเคลื่อนที่แบบ CoreXY

เครื่องพิมพ์ Bambu Lab ทุกรุ่น ทั้ง P1 Series และ X1 Series จะใช้การเคลื่อนที่หัวพิมพ์ แบบ CoreXY ซึ่งจะใช้มอเตอร์ 2 ตัว ทำงานพร้อมกัน โดยการลากสายพานให้ไขว้กัน การใช้การเคลื่อนที่แบบ CoreXY นั้นจะช่วยให้หัวพิมพ์เคลื่อนที่ได้ไว กว่าการเคลื่อนที่แบบอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดเด่นของเครื่อง Bambu Lab

แกนเครื่องที่แนวดิ่ง (Z-Axis)

เครื่อง Bambu Lab ทุกรุ่น จะใช้แกน Z จำนวน 3 ชิ้นด้วยกัน ซึ่งแกนทั้งหมด จะถูกผูกเข้ากับกับมอเตอร์เพียงตัวเดียว สำหรับฐานพิมพ์ของเครื่อง ที่มีการขยับขึ้นลงได้ ด้านใต้ฐานพิมพ์จะมีแผ่นให้ความร้อน สำหรับพิมพ์พลาสติก วิศวกรรม นอกจากนั้น ตัวฐานยังมีเกลียวสำหรับปรับระดับ เอาไว้ปรับในกรณีที่ฐานไม่เท่ากัน

ตัวฐานของเครื่อง Bambu Lab มีการปรับระนาบ มาแล้วจากโรงงาน ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องทำ

ระบบดันเส้นพลาสติก (Extrduer)

เครื่อง Bambu Lab ทุกรุ่น จะใช้ระบบดันเส้นแบบ Direct Drive ที่ตัวดันเส้นจะอยู่ติดกับหัวฉีดหรือ Extruder ซึ่งข้อดีของระบบ Direct Drive ก็คือ เส้นใยที่เกิดจากการพิมพ์จะน้อย สำหรับขุดดันเส้นนั้นด้านในจะมีเฟืองขบ ที่ถูกกัดเป็นร่อง จำนวน 2 ตัว ซึ่งตัวเฟืองจะขบกันพอดี หน้าที่ของเฟืองขบ จะเป็นตัวที่คอยดึงและดันเส้นลงไปที่หัวฉีด

ชุดเฟืองขบที่มากับเครื่องทั้งรุ่น P1P และ P1S จะเป็นเฟืองแบบธรรมดาไม่ใช่แบบชุบแข็ง เหมือนรุ่น X1 Series ทำให้ไม่เหมาะพิมพ์เส้นพลาสติก Composite ที่ผสมคาร์บอนไฟเบอร์ หรือโลหะ เพราะจะทำให้ชุดเฟืองเสียหายได้ ถ้าอยากพิมพ์เส้น Composite สามารถซื้ออะไหล่ของเครื่อง X1 Series มาใส่ได้

หัวฉีด (Hotend)

สำหรับอุปกรณ์สำคัญของเครื่องพิมพ์​ 3 มิติ ระบบ FDM ก็คือหัวฉีด ซึ่งหัวฉีดของเครื่อง Bambu Lab ทุกรุ่น จะถูกออกแบบมาให้เป็นชิ้นเดียวกับฮีทซิงค์ ไม่สามารถถอดหัวแยกออกมาได้ ซึ่งข้อดีของการใช้หัวแบบนี้ ก็คือ เปลี่ยนง่าย และลดข้อผิดพลาดในการเปลี่ยนหัว ซึ่งถ้าเป็นแบบถอดหัวออกได้ ถ้าใส่กลับไม่ดี ก็จะเกิดช่องว่าง ที่พลาสติกสามารถไหลออกมาได้ ทำให้หัวฉีดตันได้

สำหรับหัวฉีดของเครื่องรุ่น P1P และ P1S สามารถทำความร้อนได้สูง สามารถพิมพ์พลาสติกวิศวกรรม อย่าง ABS / ASA / PETG / PC ได้

หัวฉีดที่มากับเครื่อง P1P / P1S เป็นหัวฉีดแบบธรรมดาไม่ได้ชุบแข็ง ทำให้ไม่สามารถพิมพ์เส้นพลาสติกผสมคาร์บอนไฟเบอร์ หรือ เส้น Composite แต่ถ้าอยากพิมพ์ ก็สามารถซื้อหัวฉีดแบบชุบแข็งมาใส่ได้

ฐานพิมพ์ (Heat Bed)

ในส่วนของอุปกรณ์ที่ต้องมารองรับงานที่พิมพ์​ จะเรียกว่า Heat Bed ซึ่งเครื่อง Bambu Lab ทุกรุ่น จะมาพร้อมกับฐาน Heat Bed ที่ทำความร้อนได้ ตัว Heat Bed ของเครื่องถูกออกแบบมา ให้กระจายความร้อน ได้ทั่วแผ่นเท่าๆกัน เพื่อป้องกันการยกหรือหดตัวของพลาสติกบางประเภท สำหรับฐานพิมพ์ของเครื่องรุ่น P1P จะทำความร้อนได้สูงสุดที่ 100 องศา แต่ถ้าเป็นรุ่น X1 Series จะทำได้ 110 องศา ด้านบนของฐานพิมพ์ จะเป็นแผ่นแม่เหล็ก ที่เอาไว้วาง แผ่น Build Plate อีกที

ไม่ควรพิมพ์งานลงบน Heat Bed โดยตรง เพราะจะทำให้พลาสติกละลายติดฐาน ถ้าแกะออก ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้

แผ่นเหล็กรองปริ้น (Build Plate)

เครื่องพิมพ์​ รุ่น P1P และ P1S จะมาพร้อมกับแผ่นรองปริ้น แบบ Texture PEI ที่มีผิวขรุขระ คล้ายกับผิวเปลือกส้ม ซึ่งแผ่นนี้ รองรับการปริ้นพลาสติก PLA / ABS / TPU / PC และสามารถใช้กับเส้น PETG ได้อีกด้วย ตัวแผ่นทำจากเหล็กสปริง สามารถบิด งอ ได้ สามารถใช้ได้ทั้ง 2 ฝั่ง

สำหรับแผ่นเหล็กรองปริ้น จะมีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบผิวเรียบและผิวขรุขระ ซึ่งแต่ละแบบจะเหมาะกับการใช้เส้นแต่ละชนิด ซึ่งสามารถดูได้ ด้านบนที่สกรีนไว้บนแผ่น

รองรับการเชื่อมต่อ AMS

จุดเด่นอีกอย่างของ เครื่อง P1P และ P1S ก็คือ สามารถเชื่อมต่อ AMS ได้ ทำให้เครื่องสามารถพิมพ์งานหลายสีได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนเอง ตัว AMS สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องได้มากสุดที่ 4 ตัว โดยผ่านกล่อง AMS Hub อีกที

ตัวตั้งความตึงสายพาน

หลังจากที่ใช้เครื่องไปนานๆ อาจจะต้องมีการตั้งสายพาน ของหัวฉีด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยตัวเครื่อง จะมีตัวตั้งสายพานอยู่ด้านหลัง ซึ่งจะมีระบบเช็คความตึงของสายพานอยู่ ถ้าสายพานเริ่มมีการหย่อนก็จะการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ ให้ปรับตั้งสายพานใหม่

อุปกรณ์อื่นๆ ที่มีติดตั้งในตัวเครื่อง

  1. ระบบวัดแรงสั่น (Vibration Suppression) เพื่อวัดอัตราเร่งในการเคลื่อนที่ สำหรับชดเชยความเร็วในการพิมพ์ เพื่อไม่ให้เกิดริ้วรอย
  2. ระบบวัดฐานพิมพ์ (ABL) จะใช้หัวพิมพ์กดลงไปที่ฐาน เพื่อวัดระดับของฐานพิมพ์
  3. ระบบชดเชยแกน Z (Auto Z Offset) จะช่วยปรับฐาน เพื่อให้การพิมพ์เลเยอร์สมบูรณ์ที่สุด
Updated on 19/07/2023

Was this article helpful?

Related Articles