สอนการใช้งานเครื่องปริ้น Prusa รุ่น Mini และ Mini+ ตั้งแต่ส่วนประกอบเครื่อง รวมไปถึงการใช้งาน ตั้งแต่การโหลดเส้นพลาสติก เข้าและออก รวมไปถึง Tip และเทคนิค ต่างๆ เพื่อดึงประสิทธิภาพเครื่องออกมาให้มากที่สุด
สำหรับโปรแกรม Slicer ที่ใช้กับเครื่อง Prusa mIni จะใช้โปรแกรม Prusa Slicer ในการทำไฟล์สำหรับใช้พิมพ์กับเครื่อง
1. ส่วนประกอบต่างๆของเครื่อง

- แผ่นฐานพิมพ์แบบสปริง ที่บิดงอได้ งานที่พิมพ์จะติดอยู่ที่แผ่นนี้ เวลาพิมพ์เสร็จ ผู้ใช้ก็แค่ยกแผ่นนี้ออกจากเครื่องแล้วบิดฐาน เพื่อให้งานหลุดออกมา สำหรับแผ่นนี้ จะไม่ได้อยู่ในประกัน เพราะเวลาใช้ไปเรื่อยๆ จะเกิดรอยขึ้นมา สำหรับแผ่นฐาน จะมีให้เลือกด้วยกัน 2 แบบ คือแบบเรียบ และแบบหยาบ ซึ่งแบบเรียบ จะเหมาะกับพิมพ์พลาสติก PLA / ABS / Nylon ส่วน แผ่นหยาบจะเหมาะสำหรับพิมพ์พลาสติก PETG / PC
- Heatbed หรือฐานให้ความร้อน ตัวแผ่นเป็นสีดำ ซึ่งจะอยู่ด้านใต้แผ่นฐานพิมพ์ มาหน้าที่ให้ความร้อนกับแผ่นฐานพิมพ์ เพื่อให้พลาสติกติดกับแผ่นฐานพิมพ์ได้ดีและแน่นขึ้น
- Y-Axis หรือตัวขับเคลื่อนแกน Y ที่จะเลื่อนฐานพิมพ์ไปหน้าและหลัง ตามคำสั่งในโค๊ดที่สั่งงานเครื่อง
- ปุ่มวอลลุ่ม สำหรับเลือกคำสั่งที่หน้าจอ ตัวปุ่มสามารถหมุน ซ้ายและขวา รวมถึงกดลงไปได้ เพื่อเลือกคำสั่ง ด้านข้างวอลลุ่ม จะมีปุ่มรีเซ็ท สำหรับ รีเซ็ทเครื่อง หรือหยุดเครื่อง จะใช้ก็ต่อเมื่อ เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือต้องการปิดอุณหภูมิหัวฉีดและฐานพิมพ์
- หน้าจอ LCD เป็นส่วนสำหรับแสดงผล การทำงานของเครื่อง โดยจะรวมข้อมูลและการตั้งค่าของเครื่อง Prusa Mini อยู่ในหน้าจอนี้ทั้งหมด
- ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง
- ช่องเสียบ USB สำหรับอ่านไฟล์งานที่จะพิมพ์ ซึ่งพอร์ตนี้รองรับ Flash Drive USB 2.0 และ 3.0 ซึ่งไฟล์ที่อ่านต้องอยู่ในระบบ FAT32 นอกจากนั้น ตัวเครื่องสามารถ Update เฟิรม์แวร์ผ่าน USB Flash Drive ได้อีกด้วย
- ท่อเทฟลอน (PTFE) สำหรับส่งผ่านเส้นพลาสติกจากตัวดันเส้น Extruder ไปยังหัวฉีด Hotend ท่อนี้สำคัญมาก ต้องมั่นคอยดูว่า ไม่มีเศษพลาสติกตกค้างด้านใน เพราะจะทำให้การดันเส้นพลาสติกไปที่หัวฉีด เกิดปัญหา และทำให้หัวฉีดตันได้
- ชุดทองเหลืองล็อคท่อเทฟลอน สำหรับยึดท่อให้อยู่กับที่ ไม่ขยับเวลาพิมพ์งาน ชุดทองเหลืองนี้สามารถขันออกได้ ในกรณีที่ต้องการถอดท่อ ออกจากชุดหัวฉีด เพื่อทำความสะอาด โดยใช้ประแจ ที่มาพร้อมกับเครื่องปริ้น
- พัดลมเป่าชิ้นงาน สำหรับเป่าลมเย็นเพื่อให้งานที่พิมพ์เย็นลงตัว ก่อนที่พิมพ์เลเยอร์ต่อไป พัดลมชุดนี้จะทำงานแบบอัตโนมัติ ตาม Profile และเส้นพลาสติกที่เลือกมาในโปรแกรม Slicer
- ชุดหัวพิมพ์ เป็นชุดที่ประกอบไปด้วย หัวพิมพ์ / เซนเซอร์วัดฐานพิมพ์ M.I.N.D.A / และพัดลม 2 ตัว
- หัวฉีดทองเหลืองขนาดมาตรฐาน มีขนาดรู 0.4 มิลลิเมตร เป็นหัวจากผู้ผลิตชื่อดัง E3D ตัวหัวสามารถถอดเปลี่ยนเพื่อเปลี่ยนขนาดรูหัวฉีดให้เล็กลงได้ ซึ่งเครื่อง Prusa mini จะสามารถใช้หัวที่มีขนาดรู 0.25 หรือ 0.6 มิลลิเมตรได้
- แกน Z Axis เป็นชุดขับเคลื่อนแบบขึ้น ลง จะทำงานตามคำสั่งตาม โค๊ดที่มาจากโปรแกรม Slicer
- ตัวขับเส้นพลาสติก หรือ Extruder ซึ่งเครื่อง Prusa Mini จะใช้ตัวดันเส้นพลาสติกแบบ Bowden ที่ตัวดันเส้นพลาสติกจะอยู่ห่างจากหัวพิมพ์หรือ Hotend โดยมีท่อเทฟลอนเป็นตัวกลางในการส่งเส้นจาก Extruder ไปที่หัวฉีด ซึ่งข้อดี ก็คือ ช่วยลดน้ำหนักของหัวฉีด ทำให้งานพิมพ์คุณภาพดีขึ้น
- แกน X-Axis เป็นแกนที่ขยับหัวฉีดไปทางด้านซ้ายและขวา
- ที่วางเส้น Spool Holder สำหรับเอาเส้นพลาสติก มาวาง ซึ่งตัววางเส้นชุดนี้ สามารถปรับขนาดได้ เพื่อปร้บให้เหมาะกับขนาดของเส้นพลาสติกที่จะวาง
2. คำสั่งในหน้าจอของเครื่อง
สำหรับจอของเครื่อง Prusa Mini และ Mini+ จะไม่ใช่หน้าจอแบบ Touch Screen การสั่งงานและการเลือกคำสั่งจะทำผ่านปุ่ม วอลลุ่ม ที่สามารถหมุน ซ้ายและขวา อีกทั้งยังสามารถกดได้ เพื่อเป็นการเลือกคำสั่งในหน้าจอ
ในส่วนด้านล้างของหน้าจอ จะประกอบไปด้วยข้อูลพื้นฐาน ที่จะแสดงอุณหภูมิของฐานพิมพ์และหัวฉีด รวมถึงความเร็ว และประเภทของเส้นพลาสติกที่ใส่อยู่ในเครื่อง สำหรับด้านบนก็จะเป็นคำสั่งต่างๆที่ใช้สำหรับการสั่งงานเครื่อง เช่น การอุ่นเครื่องพิมพ์ (Preheat) การโหลดเส้นพลาสติก รวมไปถึงการตั้งค่าเครื่อง Original Prusa Mini
3. ฟีเจอร์ Self Test สำหรับตรวจเช็ค ความพร้อมในการใช้งาน
เครื่องของ Prusa ทุกรุ่น จะมีฟีเจอร์ในการเช็ค ตรวจการทำงานของเครื่อง ว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ ซึ่งตัว Self Test จะทำหน้าที่ ตรวจ Sensor ที่มีอยู่ในเครื่อง เช่น ความร้อนหัวฉีดและฐาน การเคลื่อนที่ของหัวฉีด รวมไปถึง ความเร็วของรอบพัดลมในจุดต่างๆ ซึ่งถ้ามีการทำงานผิดพลาดหรือผิดปกติ ตัวหน้าจอก็จะแสดง ข้อความ ว่าปัญหาอยู่ในส่วนไหน
4. การทำ First Layer Calibration สำหรับปรับระยะหัวฉีด
ถึงแม้เครื่อง Original Prusa Mini จะมีเซนเซอร์วัดฐาน M.I.N.D.A สำหรับเช็คความสูงของฐาน แต่มันก็ไม่สามารถที่จะรู้ระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างหัวพิมพ์กับฐานพิมพ์ ดังนั้นการทำ First Layer Calibration จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะเป็นตัวบอกว่า ระยะห่างที่เหมาะสมของหัวฉีดและฐานควรเป็นที่เท่าไหร่ ซึ่งการทำ First Layer Calibration จะช่วยแก้ปัญหา เรื่องของงานพิมพ์ไม่ติดฐาน
สำหรับเครื่อง Original Prusa Mini นั้น การทำ First Layer Calibration จะเหมือนกับ เครื่อง Prusa MK3S โดยที่ตัวเครื่องจะพิมพ์ Pattern ในรูปแบบ Zig Zag ออกมา ซึ่งระหว่างพิมพ์ผู้ใช้สามารถที่จะหมุนปุ่ม วอลลุ่ม เพื่อปรับระยะความสูงของหัวฉีดได้ ซึ่งการปรับระยะนั้น สามารถปรับได้ละเอียดมาก และการปรับนั้น จะเป็นค่า ติดลบ เสมอ
หลังจากที่ทำ First Layer Calibration แล้ว ให้มาสังเกตุเส้นที่พิมพ์ออกมาตอนท้ายสุด ว่าเส้นที่พิมพ์ออกมานั้นติดฐานดีหรือไม่ หรือว่าเส้นห่างไป พิมพ์ติดฐานแต่เส้นไม่ชิดกัน ซึ่งถ้าพิมพ์ออกมาเป็นแบบนี้ ก็ให้ทำใหม่และปรับหัวฉีดให้ชิดฐานมากขึ้น แต่ถ้าเส้นที่ฉีดออกมาชิดกันแต่มีรอยตะปุ่ม ตะป่ำล้นออกมาด้านบน นั่นหมายความว่าหัวฉีดชิดฐานเกินไป อันนี้ให้ทำ First Layer Calibration ใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ปรับหัวฉีดให้สูงขึ้น หรือห่างจากฐานมากกว่าเดิม
4.1 ตัวอย่างของการพิมพ์ First Layer Calibration
- หัวพิมพ์ชิดไป
- หัวพิมพ์พอดี
- หัวพิมพ์ห่างไป
ถ้าสังเกตุดู จะเห็นว่าเส้นมันชิดกันเกินไป จนมันล้นขึ้นมาข้างบน ถ้าเป็นแบบนี้คือหัวฉีดชิดฐานมากไป ให้ First Layer Calibration ใหม่และทำการหมุนให้ติดค่าบวกมากขึ้น เพื่อเป็นการยกหัวให้ห่างจากฐานมากขึ้น
ถ้าไปแบบในภาพนี้ ก็คือ สมบูรณ์ Perfect หัวพิมพ์ห่างจากฐานพิมพ์ในระยะที่พอดี สามารถใช้งานเครื่องพิมพ์ได้เลย
ในภาพนี้จะสังเกตุเห็นว่าสีเหลี่ยมที่พิมพ์ออกมานั้นมี ระยะห่างกัน หรือเส้นที่ฉีดมาไม่ชิดกัน นั่นหมายความว่าหัวฉีดห่างจากฐานเกินไป ให้ทำ First Layer Calibration ใหม่ แล้วหมุนให้ติดค่าลบมากขึ้น เพื่อให้หัวพิมพ์ชิดฐาน
สำหรับแผ่นฐานพิมพ์ของเครื่อง Prusa Mini นั้นมีให้เลือกด้วยกัน 2 แบบ คือแบบเรียบและแบบหยาบ ซึ่งถ้ามีการเปลี่ยนแผ่น ก็จำป็นจะต้องทำ First Layer Calibration ใหม่ เพราะความหนาของแผ่นนั้น จะไม่เท่ากัน ถ้าไม่ทำ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาพิมพ์งานไม่ติดฐานได้
4.2 ตั้งค่าระยะหัวฉีด สำหรับคนที่มีฐานพิมพ์หลายแบบ
สำหรับเครื่อง Prusa Mini นั้น จะมีแผ่นฐานพิมพ์ให้เลือกด้วยกัน 2 แบบ คือแบบเรียบและแบบหยาบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะเหมาะกับเส้นพลาสติกที่แตกต่างกัน ซึ่งดูได้ตามตารางด้านล่าง นอกจากพื้นผิวที่ไม่เหมือนกันแล้ว ความหนาของแผ่นก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นผู้ใช้ก็จำเป็นต้องทำ First Layer Calibration สำหรับแผ่นฐานแต่ละแบบ เพื่อให้งานที่พิมพ์ติดฐาน
ชนิดเส้น | แผ่น PEI แบบเรียบ | แผ่น PEI แบบหยาบ |
PLA | พิมพ์ลงบนแผ่นได้ | พิมพ์ลงบนแผ่นได้ |
PETG | พิมพ์ได้แต่ต้องทากาว PETG ก่อน | พิมพ์ลงบนแผ่นได้ |
ABS / ASA | พิมพ์ลงบนแผ่นได้ | พิมพ์ได้แต่ต้องทากาว ABS ก่อน |
PC | พิมพ์ได้แต่ต้องทากาว PC ก่อน | พิมพ์ได้แต่ต้องทากาว PC ก่อน |
PP | พิมพ์ได้แต่ต้องทากาว PP ก่อน | พิมพ์ไม่ได้ |
TPU | พิมพ์ได้แต่ต้องทากาวก่อน | พิมพ์ลงบนแผ่นได้ |
เครื่อง Prusa Mini นั้นจะมี Profile สำหรับเก็บค่าระยะความสูงของหัวฉีดกับแผ่นฐานแต่ละแบบ ว่าจะให้แผ่นนี้ใช้กับเส้นอะไร ซึ่งการเก็บค่าแบบนี้ ทำให้สะดวกต่อผู้ใช้ ที่ไม่จำเป็นต้องมาทำ First Layer Calibration ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแผ่นหรือเปลี่ยนเส้นพลาสติก ตัวเครื่องจะจำค่าระยะห่างของหัวฉีดกับฐานพิมพ์ และเก็บเอาไว้ในเครื่อง เวลาที่จะใช้ก็แค่มาเลือกแผ่นให้ตรงตามการใช้งาน
5. ขั้นตอนการใช้เครื่องที่ถูกต้อง
หลังจากที่ทำ First Layer Calibration เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ก็มาดู ขั้นตอนการใช้งานเครื่องที่ถูกต้อง ซึ่งจะเป็นการเตรียมเครื่องก่อนพิมพ์งาน ทั้งการทำความสะอาดฐานพิมพ์ หรือการทากาวที่ฐาน เพื่อให้แน่ใจว่างานที่จะพิมพ์ จะไม่หลุดระหว่างทาง
ซึ่งกาวที่ใช้แนะนำให้เป็นกาวน้ำยี่ห้อ Magigoo เพราะจะไม่ทิ้งคราบเหนียวลงบนแผ่น ทำความสะอาดง่าย และถ้าใช้คู่กับเส้น ABS / ASA ก็จะช่วยให้งานติดแน่น ขอบด้านข้างไม่ยกเวลาพิมพ์
6. Live Adjust Z ตัวช่วยในการตั้งระยะหัวฉีด ในการพิมพ์เลเยอร์แรก
วิธีการนี้ ผมแนะนำให้ทำตอนพิมพ์เลเยอร์แรกเท่านั้น เพราะถ้าทำตอนพิมพ์เลเยอร์อื่นๆ จะทำให้ชิ้นงานเสียได้ ซึ่งการทำ Live Adjust Z นั้นจะเหมือนกันกับการทำ First Layer Calibration แต่อันนี้จะเป็นการพิมพ์งานจริงๆ และปรับตรงหน้างานที่กำลังพิมพ์อยู่ เหมาะสำหรับการปรับระยะหัวฉีดให้เหมาะสมกับงานที่พิมพ์ ซึ่งก่อนจะทำ Live Adjust Z ก็ควรที่จะทำ First Layer Calibration ให้ดีเสียก่อน
7. การปรับเปลี่ยนและตั้งค่าเครื่อง ระหว่างพิมพ์งาน รวมถึงการเปลี่ยนเส้นพลาสติก
สำหรับการพิมพ์งานบางครั้ง ผู้ใช้อาจจะต้องการปรับความเร็ว หรือปรับอุณหภูมิระหว่างที่พิมพ์งานอยู่ ซึ่งตัวเครื่อง Prusa Mini นั้นก็สามารถทำได้ รวมไปถึง การเปลี่ยนเส้นพลาสติกระหว่างพิมพ์ เพื่อพิมพ์แบบสลับสี เหมือนขนมชั้น ก็ทำได้เช่นกัน
8. การดูแลรักษาและ Maintainace เครื่อง หลังจากใช้งาน
หลังจากที่ใช้เครื่องเป็นเวลานาน ก็จำเป็นที่จะต้องทำการ Maintenance หรือบำรุงรักษาเครื่อง ซึ่งตรงนี้ผมแนะนำให้ทำเป็นประจำ โดยเฉพาะชุดขับเคลื่อนหัวฉีด และฐานพิมพ์ ก็ควรที่จะหยอดน้ำมันหล่อลื่น ลงบนแกนเหล็ก รวมไปถึงการดูดฝุ่นตรงพัดลมเป่างาน และพัดลมเป่าซิงค์ของหัวฉีด ในส่วนของหัวฉีด ทาง Prusa แนะนำว่า ควรจะเปลี่ยนทุกๆ 800 ชั่วโมง เพื่อให้งานที่พิมพ์ออกมาได้ขนาด ตรงตามแบบที่เขียน
9. การทำความสะอาดหัวฉีดเครื่อง
การทำความสะอาดเครื่องนั้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่หัวพิมพ์ กับชุดพัดลม ซึ่งหัวพิมพ์ ถ้าผู้ใช้ พิมพ์เส้นพลาสติกจำพวก ABS และ PETG จะเห็นได้ว่ามีเศษพลาสติกหลอมละลายติดที่หัวพิมพ์ หรือไม่ก็จะเห็นเป็นคราบดำๆ เกาะที่ตัว Heat Block ที่เป็นอลูมิเนียม ซึ่งถ้าไม่ทำความสะอาด ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาในการพิมพ์งานได้
โดยเฉพาะการพิมพ์พลาสติก PETG ถ้าหัวพิมพ์และฐานไม่สะอาด ก็จะเป็นปัญหาในการพิมพ์เลเยอร์แรก สำหรับการทำความสะอาดหัวฉีด จะใช้แปรงทองเหลืองในการขัดไปที่หัวฉีด ซึ่งวิธีการทำต้องระมัดระวัง เพราะถ้าไม่ทำตามขั้นตอนในวิดีโอ อาจจะทำให้บอร์ดควบคุมเครื่องเสียหายได้
10. การ Update Firmware เครื่อง Prusa Mini / Mini+
การ Update เฟริมแวร์ ก็เหมือนกับการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้กับเครื่อง รวมไปถึงการแก้ไข จุดบกพร่องต่างจาการใช้งานก่อนหน้านี้ ซึ่งทาง Prusa จะปล่อย Firmware มาให้ Update ผ่านทางเว็บของ Prusa ซึ่งสามารถเข้าไป Download ได้ที่นี่

หลังจากที่ Download เสร็จ ก็ให้เอาไฟล์ที่ได้มา บันทึกลง USB Thumb Drive เสร็จแล้วก็เอาไปเสียบที่เครื่อง จากนั้นทำการปิด และเปิดเครื่อง ตัวเครื่องก็จะไปหาไฟล์ Update ใน USB โดยอัตโนมัติ
11. เทคนิคการพิมพ์เส้น PETG ให้ติดฐาน ไม่หลุดระหว่างปริ้น
สำหรับเส้นพลาสติก PETG นั้น หลายๆคน อาจจะยังไม่เคยลอง หรือลองแล้วแต่พิมพ์ไม่ได้ เพราะพิมพ์ทีไร หัวพิมพ์ก็ไปเกี่ยวกับชิ้นงานที่ฐานทุกที ซึ่งการพิมพ์เส้น PETG นั้นจริงๆแล้วไม่ได้ยากเลย ขอแค่ทำความสะอาดหัวฉีดและฐานพิมพ์ก่อนทุกครั้ง ก็สามารถพิมพ์เส้นนี้ได้ ซึ่งข้อดีของเส้น PETG ก็คือชิ้นงานที่ได้มาจะมีความแข็งและเหนียว สามารถห้อยตัวได้ แถมทนความร้อนได้มากกว่าเส้นพลาสติก PLA เหมาะสำหรับพิมพ์งานเชิงกล หรืองานวิศวกรรม ข้อดีอีกอย่างคือ ตอนพิมพ์เส้น PETG จะไม่มีกลิ่น เหมือนเส้น ABS