โปรแกรม Creality Slicer

สารบัญ

โปรแกรม Slicer ที่ทาง Creality ทำมา เพื่อใช้งานกับเครื่องปริ้น 3 มิติ ของ Creality ทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรุ่น Ender 3 / Ennder S1 รวมไปถึงรุ่น CR10 ซึ่งโปรแกรม ตัวนี้ ถูกพัฒนาต่อยอดมากจากโปรแกรม Cura ซึ่งถ้าเคยใช้โปรแกรม Cura มาก่อน ก็สามารถใช้โปรแกรมนี้ได้อย่างแน่นอน

ทางร้านได้มีการทำ วิดีโอสอนการใช้งานโปรแกรม Cura ซึ่งสามารถที่จะมาใช้ควบคู่กับโปรแกรม Creality Slicer ได้ ซึ่งวิดีโอบางตัว ทางร้านจะแนบมาสอนคู่กัน เพื่อให้ผู้เรียน สามารถใช้โปรแกรมได้อย่างเต็มที่

EP1. ติดตั้งโปรแกรมและเลือกเครื่องที่ใช้

Creality Slicer เป็นโปรแกรมที่ทาง Creality ได้เอาโปรแกรม Cura มาปรับแต่ง หน้าตา Interface และใส่รุ่นเครื่องที่ทาง Creality ไปผู้ผลิต ลงไปในโปรแกรม ทำให้การใช้งานจะง่ายกว่า มี Setting มาให้พร้อมใช้งาน ไม่ต้องมาตั้งค่าเครื่องเอง

โปรแกรม มีการ update เรื่อยๆ ให้ดูตรงเลขด้านหลัง ตัวเลขยิ่งเยอะ ก็จะเป็นตัวล่าสุด

ผู้ใช้สามารถโหลดโปรแกรม Creality Slicer ได้จากทาง Website ได้โดยตรง ซึ่งตัวโปรแกรมจะมีให้เลือกใช้ทั้งบน Window และ MAC OS สามารถเข้าไปโหลดได้ที่ Link นี้

EP2.ส่วนประกอบของโปรแกรม และการเอาโมเดลเข้า

ในส่วนของโปรแกรม เมื่อเลือกรุ่นเครื่องเสร็จแล้ว ก็จะมีหน้าต่างของโปรแกรมขึ้นมา ซึ่งส่วนที่อยู่ตรงกลาง จะเป็นพื้นที่การพิมพ์งาน ซึ่งพื้นที่การพิมพ์จะเปลี่ยนไป ตามรุ่นเครื่องที่เลือก ดังนั้น ก่อนใช้โปรแกรม ต้องเลือกรุ่นเครื่องให้ตรงเสียก่อน ก่อนที่จะเอาโมเดลเข้ามาในโปรแกรม ส่วนหน้าต่างโปรแกรมประกอบไปด้วย

2.1 หน้าต่างส่วนประกอบของโปรแกรม

ส่วนประกอบต่างๆ ของโปรแกรม Creality Slicer
  1. ปุ่มสำหรับเปิดหน้าต่าง เพื่อเอาโมเดล 3 มิติเข้ามาในโปรแกรม (สามารถโหลดหลายไฟล์เข้ามาพร้อมกันได้)
  2. แถบสำหรับเลือกรุ่นเครื่องที่ใช้แถบสำหรับเลือกเส้นพลาสติกที่ใช้พิมพ์ (ต้องเลือกให้ตรงกับเส้นพลาสติกที่ใส่ในเครื่อง)
  3. แถบสำหรับการตั้งค่าการพิมพ์ในส่วนของความละเอียด ความแข็งแรง และค่าอื่นๆ
  4. แถบสำหรับเข้าหน้าต่าง Prepare เพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง หมุน สเกล ชิ้นงาน จัดวางตำแหน่ง
  5. แถบสำหรับดูการทำงานของหัวพิมพ์ เพื่อตรวจเช็คก่อนที่จะไปพิมพ์บนเครื่อง
  6. พื้นที่การพิมพ์ สามารถเอางานมาวางในพื้นที่กล่องสี่เหลี่ยมนี้ได้ แต่ห้ามวางเกินขอบเขต
  7. ชื่อไฟล์ สามารถคลิ๊กเลือกชื่อที่อยู่ตรงนี้ได้ แทนการคลิ๊กที่โมเดล เพื่อช่วยให้การเลือกโมเดลง่ายขึ้น ในกรณีที่มีโมเดลหลายชิ้น
  8. ปุ่มสำหรับเปลี่ยนมุมมองในการทำงาน
  9. ปุ่มสำหรับ Slice งาน เมื่อกดปุ่มนี้ จะมีการแสดงเวลาที่ใช้พิมพ์ รวมไปถึงน้ำหนักและความยาวเส้นที่ใช้
  10. ปุ่มสำหรับโหลด Profile และ Plug In มาเสริมให้กับโปรแกรม

EP3. การวางโมเดล รวมไปถึงการหมุนและขยายชิ้นงาน

สำหรับการวางชิ้นงาน สำหรับเครื่องปริ้น 3 มิติที่ใช้เส้นพลาสติก แนะนำให้เอาด้านที่มีพื้นที่มากที่สุด วางลงบนพื้น เพื่อช่วยให้ชิ้นงานติดแน่นไม่หลุด ระหว่างพิมพ์ ซึ่งโปรแกรม Cura จะมี ฟังค์ชั่นเลือกผิว ที่ต้องการวางพื้น ซึ่งจะเป็นฟีเจอร์ที่ใช้บ่อยมาก

สำหรับมือใหม่ แนะนำการวางงาน โดยให้เอาส่วนที่มีเนื้อมากที่สุด ลงพื้น เพราะจะช่วยให้งานยึดติดได้แน่น ไม่หลุดระหว่างปริ้น

ในส่วนของการสเกลงาน เพื่อขยายหรือย่อชิ้นงาน สามารถทำได้ 2 แบบ โดยแบบแรก จะให้ใส่เป็นเปอร์เซนต์ ซึ่งปกติค่ามาตรฐานคือ 100% ถ้าอยากให้งานใหญ่ขึ้น 2 เท่าให้ใส่ 200% ในทางกลับกัน ทางอยากให้งานเล็กลงครึ่งนึง ให้ใส่ 50% นอกจากการใส่เป็นเปอร์เซนต์แล้ว ยังสามารถระบุขนาดที่ต้องการลงไปได้เลย โดยมีหน่วยเป็น มิลลิเมตร เวลาใส่ค่าไปแล้ว ตัวโปรแกรม จะทำการสเกลชิ้นงาน ไปพร้อมกันทั้ง 3 แกน เพื่อให้สัดส่วนไม่เพี้ยนไปจากเดิม

การย่อและขยายชิ้นงาน แบบสัดส่วนตามเติม
การย่อและชยาย แบบออกได้ด้านด้านนึง

บางครั้งการเปลี่ยนแปลงโมเดลไม่ว่าจะเป็นการย่อ ขยาย ชิ้นงานหรืองานหมุนชิ้นงาน อาจจะไม่ได้ตามที่คาดเอาไว้ แล้วอยากจะ Reset กลับไปเหมือนตอนแรก สามารถทำได้โดยการ Click ปุ่มเมาส์ขวา ค้างไว้ แล้วกด Reset All Model Transformation ตัวโมเดลที่ถูกเปลี่ยนแปลง ก็จะถูก Reset กลับมาเหมือนตอนที่โหลดเข้าโปรแกรม

การ Reset โมเดล ให้กลับไปเหมือนเดิม

EP4. ตั้งค่าการพิมพ์ ในส่วนของความละเอียดและความแข็งแรง

โปรแกรม Creality Slicer นั้นถูกดัดแปลงมาจากโปรแกรม Cura ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนหน้าตา และมี Profile เครื่อง Crealtiy ทุกรุ่น ซึ่งการใช้งานโปรแกรม Creality Slicer นั้นจะง่ายมาก ถ้าใช้กับเครื่อง Crealtiy เพราะค่าต่างๆ จะถูก Set เอาไว้แล้ว ผู้ใช้แค่เลือก ความละเอียดในการพิมพ์​ เปอร์เซนต์ความแข็งแรง ของชิ้นงาน ซึ่งค่าเหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนด เวลาในการพิมพ์ รวมไปถึงปริมาณของเส้นที่ใช้

หลังจากตั้งค่าเสร็จแล้ว ให้กดปุ่ม Slice ตัวโปรแกรมก็จะเอาค่าที่ผู้ใช้ตั้งไว้ มาทำการสร้างทางเดินหัวพิมพ์ ซึ่งการคำนวนตรงนี้ จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความละเอียดของโมเดล และความแรงของคอมพิวเตอร์​ หลังจากโปรแกรมทำการ Slice เสร็จ ก็จะบอกเวลาที่ใช้พิมพ์ รวมไปถึงปริมาณเส้นที่พิมพ์งาน

4.1 ส่วนประกอบหน้าต่างแถบ Preview

หน้าต่าง Preview สำหรับดูทางเดินหัวพิมพ์
  1. แถบ Preview
  2. แถบสำหรับเลื่อนดูทางเดินหัวพิมพ์ในแต่ละชั้นหรือเลเยอร์
  3. ช่องแสดงเวลาที่ใช้พิมพ์งานและปริมาณเส้นที่พิมพ์
  4. ปุ่ม Save สำหรับบันทึกไฟล์ G-Code ลง Sd Card เพื่อเอาไปพิมพ์กับเครื่อง

ผู้ใช้ควรที่จะดู Preview ทุกครั้ง เพื่อดูทางเดินของหัวพิมพ์ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะบางครั้ง ถ้าโมเดล 3 มิติมาไม่ดี หรือเสีย ตรงทางเดินหัวพิมพ์ก็จะไม่โชว์ทางเดินขึ้นมา หรือจะเห็นเป็นช่วงที่ขาดหายไป ไม่ต่อกัน ซึ่งผู้ใช้จะต้องทำการซ่อมโมเดลก่อน แล้วค่อยเอามาทำการ Slice อีกที

ไฟล์ที่ได้ สามารถใช้ Notepad หรือ Texteditor เปิดได้

ไฟล์ที่ได้จากการ Slice จะเป็นนามสกุล G-Code ซึ่งสามารถใช้โปรแกรม Notepad หรือ TextEdit เปิดดูได้ ภายในไฟล์ จะประกอบได้ด้วย โค้ด และพิกัด X,Y และ Z ซึ่งพิกัดเหล่านี้ เป็นตัวระบุทางเดินของหัวพิมพ์

งานจะสวยไม่สวย จะอยู่กับการตั้งค่าของโปรแกรม Slicer และท่าทางในการวางงาน ตังเครื่องมีหน้าที่ เดินตามพิกัด ที่โปรแกรม Slicer สร้างมา

4.2 การตั้งค่าความละเอียดแบบ Advance

วิดีโอด้านล่างเป็นวิดีโอของโปรแกรม Cura ซึ่งสามารถนำมาใช้ควบคู่กันได้ เพราะตำแหน่งคำสั่งเหมือนกัน

ในส่วนของ Quality Setting จะประกอบไปด้วย Parameter ที่เกี่ยวกับคุณภาพชิ้นงาน ซึ่งค่าต่างๆ ส่วนใหญ่จะเน้นผิวภายนอก ที่เห็นด้วยตา เช่น ความละเอียดในการพิมพ์ และขนาดของเส้นที่ฉีด ซึ่งคำศัพท์ ที่ผมอยากจะเน้นและให้ทำความเข้าใจ ในส่วนของหัวข้อนี้

Initial หมายถึง ชั้นเริ่มต้นหรือชั้นแรก ถ้าเป็นโปรแกรม Slicer ตัวอื่นๆ เรียกว่า First Layer ถ้ามีคำว่า Initial ให้จำไว้ว่า ค่าในช่องนี้ จะเกี่ยวกับเลเยอร์ชั้นแรก ชั้นเดียว

Line Widht หมายถึง ความกว้างของเส้นที่ฉีดออกมา ซึ่งค่านี้ส่วนใหญ่จะต้องอ้างอิงกับรูหัวฉีด แต่สามารถปรับให้ใหญ่กว่าได้ แต่ห้ามมากเกิน เพราะจะทำให้เกิดอาการฉีดเส้นไม่ออก สำหรับ Line Widht จะไปสัมพันธ์กับค่า Exturion Rate หรืออัตตราการไหลตัว บางโปรแกรมจะเรียกว่า Flow Rate การตั้งค่า Line Width ก็ควรเอาให้เหมาะสม ไม่ควรตั้งมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการหัวฉีด ฉีดเส้นออกมาไม่สม่ำเสมอ เกิดจากการที่มอเตอร์ดันเส้น ต้องใช้กำลังมากในการดันเส้นลงผ่านหัวฉีดที่มีขนาดเล็ก ถ้ามอเตอร์ไม่สามารถดันเส้นลงมาได้ ก็จะเกิดอาการ Slip และตัวดันเส้นก็จะไปกัดเอาเส้นพลาสติกออก ทำให้เส้นออกมาไม่สม่ำเสมอ หรืออาจจะทำให้เกิดอาการหัวฉีดตัน หรือฉีดไม่ออก

4.2.1 Layer Height (ความละเอียดในการพิมพ์)

สังเกตุที่หัวนกฮูก ตัวเลขยิ่งมาก ยิ่งเห็นเป็นชั้นๆ

สำหรับค่าตัวแรก ที่เรียกว่าเป็นค่าสำคัญที่สุด สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ก็คือค่าความละเอียดต่อชั้น หรือ Layer Height ซึ่งค่าตรงนี้เป็นตัวกำหนดระยะห่างในการพิมพ์ ในแต่ละชั้น ยิ่งตัวเลขยิ่งน้อย ก็จะได้งานที่ละเอียด แต่จะใช้เวลาพิมพ์นาน ในทางกลับกัน ถ้าตัวเลขยิ่งเยอะ ก็จะได้งานที่หยาบ แต่จะพิมพ์ได้เร็วขึ้น สำหรับการเลือกความละเอียด จะต้องสัมพันธ์กับเส้นที่ใช้พิมพ์ด้วย เช่น PLA สามารถพิมพ์ที่ความละเอียด 0.05 มิลได้ แต่ถ้าใช้ ABS หรือ PETG พิมพ์งานตัวเดียวกันที่ความละเอียดเท่ากัน งานที่ได้จะไม่สวย เพราะตัวเส้นระบายความร้อนออกได้ไม่ดีเท่าพลาสติก PLA

สำหรับความละเอียดที่หยาบที่สุด ที่จะพิมพ์ได้ ต้องไปเกิน 80% ของรูหัวฉีด เช่น เครื่องพิมพ์ มีหัวฉีดขนาดรู 0.4 มิล ดังนั้น Layer Height ที่หยาบที่สุด ที่่จะพิมพ์ได้ ต้องไม่เกิน 0.4 x 80% = 0.32 มิล ถ้าเกินกว่านั้น เส้นระหว่างชั้นที่พิมพ์จะเกาะกันไม่ดี เพราะมีเนื้อพลาสติกไม่พอ ให้กดทับติดกัน

4.2.2 Initial Layer Height (ความสูงของหัวพิมพ์ในชั้นแรก)

ค่าในช่องนี้ จะเป็นตัวกำหนดความสูงระหว่างหัวพิมพ์กับฐานพิมพ์ในชั้นแรก หรือเลเยอร์แรก แค่ชั้นเดียว ซึ่งค่าตัวนี้มีไว้สำหรับตั้งให้เส้นที่ฉีดออกมาใกล้กับฐาน เพื่อให้เส้นออกมา มีขนาดความกว้าง มากกว่าเส้นในชั้นต่อๆไป เส้นในชั้นแรก จำเป็นต้องมีเนื้อพลาสติกออกมาให้มากกว่าชั้นอื่นๆเพราะ ต้องการให้งานที่พิมพ์ ติดอยู่กับฐานได้แน่นหนา ไม่หลุดระว่างพิมพ์

ค่าตัวนี้ยังสามารถนำมาใช้ชดเชย ระยะห่างระหว่างหัวพิมพ์กับฐานได้ด้วย ในกรณี ที่หัวพิมพ์นั้นลอยหรือชิดกับฐานมากเกินไป ค่าตัวเลขยิ่งน้อย หัวพิมพ์จะยิ่งชิดกับฐานมากขึ้น ใช้สำหรับในกรณีที่หัวพิมพ์ฉีดพลาสติกออกมาแล้วไม่ติดฐาน ในทางกลับกัน ถ้าหัวพิมพ์ฉีดพลาสติกออกมาชิดเกินไป ก็ให้เพิ่มค่าในช่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้หัวพิมพ์ห่างจากฐานพิมพ์ แต่ไม่ควรตั้งมากเกินไป เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การที่เส้นพลาสติกฉีดออกมาแล้วไม่ยอดติดฐานพิมพ์ หรือติดแค่บางส่วน ส่วนใหญ่เป็นเพราะฐานพิมพ์ไม่ได้ระนาบ ซึ่งเกิดจากการปรับตั้งที่ไม่ดี ผู้ใช้ควรแก้ปัญหาที่จุดนั้นก่อน

4.2.3 Line Width (ขนาดเส้นที่ฉีดออกมา)

ในส่วนของ Line Widht หรือความกว้างของเส้นที่ฉีดออกมา จะมีค่าให้ตั้งแบบแยกย่อยลงไปในแต่ละส่วนของงานพิมพ์ ซึ่งการเพิ่มและลดค่า Line Widht จะส่งผลต่อคุณภาพงาน เช่น ลดค่า Line Width ในส่วนของผิวด้านนอกหรือ Outer wall จะให้ทำให้ Detail ของงานมีเหลี่ยมและมุมที่คมชัดชึ้น เห็นรายละเอียดมากขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าเพิ่มค่า Line Widht ในส่วนของ Infill หรือโครงสร้างด้านใน ก็จะแข็งแรงและทำให้พิมพ์งานได้เร็วขึ้น

สำหรับค่าเริ่มต้นของ Line Width ควรจะมีค่าเท่ากับรูหัวฉีด เช่นหัวฉีดขนาดรู 0.4 ค่า Line Width ก็ควรเท่ากับ 0.4 และไม่ควรตั้งมากเกิน

  1. Wall Line Widht: ความกว้างของเส้นผนัง สามารถตั้งได้ทั้ง ผนังด้านใน Inner Wall และผนังด้านนอก Outer Wall
  2. Top/Bottom Line Widht: ความกว้างของเส้นที่พิมพ์ชิดกัน ในส่วนของด้านบนและด้านล่างชิ้นงาน ซึ่งค่า Top ตัวนี้ จะแตกต่างกับ Top Surface เพราะ Top สามารถพิมพ์ได้หลายชั้น แต่ Top Surface จะมีแค่ชั้นเดียวและอยู่บนสุดเสมอ
  3. Infill Line Widht: ความกว้างของเส้นในส่วนของโครงสร้างด้านใน
  4. Initial Layer Line Widht: เป็นค่าสำหรับกำหนดความกว้างของเส้นที่จะพิมพ์ในเลเยอร์แรก หรือชั้นแรกแค่ชั้นเดียว ยิ่งเส้นมีขนาดใหญ่ ก็จะทำให้มีเนื้อพลาสติกออกมายึดติดกับฐานได้มากขึ้น เกาะแน่นขึ้น ไม่หลุดระหว่างพิมพ์

การใส่ค่าในช่อง Initial Layer Line Widht มากเกินไป อาจจะทำให้งานที่พิมพ์มีอาการที่เรียกว่า Elephant Foot หรือเท้าช้าง ที่มีลักษณะฐานด้านล่างป้านออก แล้วค่อยลู่ลงมา ซึ่งทำให้ชิ้นงานที่พิมพ์ไม่ได้ขนาด อันนี้ต้องระวังด้วย เพราะอาจจะเกิดจากการตั้งค่า Initial Layer Line Widht ที่มากเกินไป

EP5. สร้าง Support สำหรับงานที่ซับซ้อน รวมไปถึงการเพิ่มจุดยึดให้กับโมเดล

สำหรับการพิมพ์งานหลายๆชิ้นพร้อมกันนั้น สามารถทำได้ แต่ให้ระวังในเรื่องของการวางชิ้นงาน เพราะโมเดลสามารถที่จะวางท้บหรือซ้อนกันได้ โดยที่ไม่มีการแจ้งเตือน ซึ่งผู้ใช้ ต้องคอยเช็คและตรวจสอบก่อนทุกครั้ง แต่ถ้าให้ดี ให้ใช้คำสั่ง Arrange All Model เพื่อให้โปรแกรม ช่วยจัดวางชิ้นงานให้แบบอัตโนมัติ ซึ่งตัวโมเดลจะถูกจัดวางกันให้ชิด และไม่ทับซ้อนกัน

ให้โปรแกรม ทำการจัดวางและเรียงโมเดลให้แบบอัตโนมัติ

สำหรับในส่วนของ Support หรือตัวรองรับ ภาษาบ้านๆที่ผมใช้จะเรียกว่านั่งร้าน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพิมพ์งาน 3 มิติ เพราะโมเดลบางชิ้น จะมีส่วนยื่น ส่วนเกิน หรือส่วนที่ลอยอยู่กลางอากาศ ซึ่งตรงนี้เรียกว่า Overhang ถ้าไม่มีการสร้าง Support กับโมเดลจำพวกนี้ จะทำให้งานพิมพ์เสีย ดังนั้น ผู้ใช้ต้องคอยดูและตรวจสอบโมเดล หลังจากการ Slice ทุกครั้ง ว่ามีส่วนไหน ที่ลอยกลางอากาศ หรือยื่นออกมามาเกิน ถ้าอยากรู้ว่า โมเดลแบบไหนที่ต้องใช้ Support สามารถคลิ๊กเข้าไปอ่านบทความได้ที่ Link นี้

แค่เปลี่ยนมุมในการวาง Support ที่ใช้ก็เปลี่ยน

สำหรับมือใหม่ ผมแนะนำให้เปิด Support ทิ้งเอาไว้เลย ซึ่งตัวโปรแกรมจะทำการคิดและคำนวนเอง ว่าจุดไหนที่ควรจะมี Support และจุดไหนที่ไม่จำเป็น ซึ่งจริงๆแล้ว การตั้งค่า Support สามารถทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่การตั้งค่าองศาของมุมเอียง จนไปถึงความหนาแน่นของ Support และช่องว่างระหว่าง Support กับตัวงาน

นอกจากการสร้าง Support หรือตัวรองรับแล้ว ยังมีอีกฟีเจอร์ที่จะช่วยให้งานพิมพ์สำเร็จ ซึ่งโปรแกรม Creality Slicer จะเรียกในส่วนนี้ว่า Adhersion ซึ่งตัว Adhersion นั้นค่าปกติที่โปรแกรมจะสร้าง เรียกว่า Brim ซึ่งตัวฟีเจอร์นี้ จะเป็นการขยายพื้นที่ผิวด้านล่างชิ้นงานให้มีขนาดกว้างขึ้น เพื่อเพิ่มเนี้อพลาสติกให้มีจุดยึดกับฐานปริ้นมากขึ้น ซึ่งการใช้ฟีเจอร์นี้จะเหมาะสำหรับโมเดล ที่มีจุดยึดกับฐานน้อย เช่น ขาเก้าอี้ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ฟีเจอร์นี้กับพลาสติกวิศวกรรม จำพวก ABS / ASA / Nylon และ PC ได้อีกด้วย เพื่อช่วยให้ชิ้นงานไม่หลุดออกจากฐานระหว่างปริ้น

ถ้าผิวสัมผัสฐานน้อย ให้เปิดฟีเจอร์เพิ่มเนื้อที่ฐาน

สำหรับงานชิ้นงานบางประเภท อาจจะต้องเพิ่มหรือเปลี่ยนรูปแบบ Adhersion เพื่อให้ชิ้นงานนั้นติดแน่นที่สุด ไม่หลุดระหว่างปริ้น 

Support หรือตัวรองรับนั้น มีส่วนสำคัญและกำหนดว่างานที่พิมพ์จะเสร็จหรือไม่เสร็จ ซึ่งการตั้งค่า Support หรือตัวรองรับนั้น ถ้าตั้งไม่ดี ก็จะทำให้งานพิมพ์แล้วเสียได้ แต่ถ้าตั้งมากเกินไป ก็จะทำให้เสียเวลาในการพิมพ์ รวมถึงพลาสติกที่ใช้พิมพ์ ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนในการพิมพ์

5.2 Support Structure (โครงสร้างของ Support)

ในส่วนของช่องนี้ จะมีให้เลือก 2 แบบ คือ Normal กับ Tree ซึ่งทั้ง 2 ตัวจะแตกต่างในเรื่องของโครงสร้างของ Support ซึ่งจะเลือกใช้ ก็ต้องดูโมเดล 3 มิติที่จะพิมพ์ด้วย ว่าเหมาะกับแบบไหน

ถ้าเลือกแบบ Normal ก็จะเป็นแบบปกติที่ใช้กันทั่วๆไป ตัวโครงสร้าง Support ก็จะสร้างขึ้นมาเป็นแบบเส้นแบบโครงสร้างถ้าวิ่งไปมาเหมือนฟันปลา ซึ่งจะสร้างตั้งแต่ฐานขึ้นไปเรื่อยๆ ในทางกลับกัน ถ้าเลือกแบบ Tree จะเป็นการสร้างแบบโครงต้นไม้ ซึ่งจะมีฐานราก ในบางจุด แล้วค่อยๆ แตกกิ่งก้านขึ้นไป Support โมเดล

5.2.1 ข้อแตกต่างระหว่าง Normal Support กับ Tree Support

ตัวแปรTree SupportNormal Support
ความเร็วพิมพ์ได้เร็วกว่า เพราะไม่จำเป็นต้องสร้างรากฐานพิมพ์ได้ช้ากว่า เพราะต้องพิมพ์ฐานราก ให้คลุมโมเดล 3 มิติทั้งชิ้น
ปริมาณพลาสติกที่ใช้ใช้น้อยกว่า เพราะไม่ต้องพิมพ์ฐานรากใช้มากกว่า เพราะต้องฉีดฐานรากออกมาด้วย
ความแข็งแรงของ Supportความแรงน้อยกว่า ไม่เหมาะกับงานที่มี Overhang หรือ Bridge ยาวๆแข็งแรงกว่า เหมาะสำหรับงานพิมพ์ที่มี Overhang และ Bridge ยาวๆ

5.3 Support Placement (ตำแหน่งที่ให้สร้าง Support)

ค่าในช่องนี้ จะมีให้เลือกอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ Touching Buildplate กับ Everywhere ซึ่งข้อแตกต่างก็คือ ตำแหน่งที่จะให้ Support หรือตัวรองรับ ไปอยู่ในส่วนไหนของ Model ถ้าเลือกเป็น Everywhere ก็หมายความว่า ให้สร้าง Support ในทุกๆส่วน ทุกๆทีของโมเดล ที่มีค่า Overhang หรือมีองศาที่เอียงมากกว่า ค่าในช่อง Support Overhang Angle

ส่วน Touching Buildplate จะเป็นการสร้าง Support ในส่วนที่ยื่นออกมา แล้วเห็นฐานพิมพ์ อธิบายง่ายๆ ก็คือให้มองงาน จากด้านบนลงมา หรือ Top Down แล้วสังเกตุดูว่า ถ้าโมเดลที่พิมพ์ มีส่วนไหนก็แล้วแต่ ยื่นออกมาแล้วเห็นฐานพิมพ์ ให้โปรแกรมทำการสร้างตัวรองรับหรือ Support ในจุดนั้น

5.4 Support Overhang Angle (องศาหรือมุมเอียงที่ให้สร้าง Support)

สำหรับค่าในช่องนี้ ถือว่าเป็นค่าที่สำคัญที่สุด เพราะจะเป็นตัวบอกตำแหน่ง ว่าจะให้โปรแกรม สร้างตัวรองรับหรือ Support ตรงไหนของโมเดล ซึ่งค่าที่ใส่จะเป็น องศา สามารถใส่ค่าได้ระหว่าง 0-90

ตัวเลขที่ใส่ยิ่งมาก Support ที่โปรแกรมสร้างก็จะยิ่งน้อย เวลาใส่ค่าในช่องนี้ อาจจะให้ลองนึกถึงตัวเอง โดยทียกแขนขึ้นตรงๆ ซึ่งท่านี้ ถ้าเอามาพิมพ์จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ Support ซึ่งก็คือมุมองศาที่ 90 ที่นี้ลองค่อยๆ ขยับแขนลงมาเรื่อยๆ ซึ่งก็คือการลดองศาหรือลดตัวเลขในช่องนี้ เมื่อลดแขนลงจนตั้งฉากกับลำตัว นั้นก็คือค่าในช่องนี้จะมีค่าเท่ากับ 0 ซึ่งถ้าลองนึกดูว่าถ้าพิมพ์งานท่านี้ ยังไงก็ต้องมี Support หรือตัวรองรับ

การกำหนดค่าในช่องนี้ จะไปสัมพันธ์กันกับเวลาที่ใช้พิมพ์งาน และปริมาณพลาสติกที่ใช้ ตัวเลขยิ่งน้อย Support ที่ใช้ก็จะยิ่งมาก และเวลาที่ใช้พิมพ์ก็จะนาน แต่ถ้าตัวเลขในช่องนี้ยิ่งมาก Support ก็จะน้อย งานที่พิมพ์ก็จะเสร็จเร็วขึ้น

Support คือสิ่งสำคัญ สิ่งถ้าให้เปรียบก็เหมือนกันกับการสร้างบ้านที่มาหลายๆชั้น ในการสร้างชั้นบนๆ ของบ้าน จำเป็นต้องมีการสร้างนั่งร้านขึ้นมาก่อน เพื่อที่นั่งร้านจะได้ทำหน้าที่รับน้ำหนัก และเป็นโครงสร้างในการเทพื้น ถ้านั่งร้านมันน้อย ก็อาจจะทำให้ชั้นบนที่กำลังทำอยู่ อาจจะถล่มลงมาได้ ดังนั้น Support ก็เหมือนนั่งร้าน ถ้าไม่อยากให้งานเสีย นั่งร้านก็ต้องแข็งแรง และมีเพียงพอ ไม่อย่างนั้น งานที่พิมพ์จะเสีย และสิ่งที่เสียจะไม่ใช่แค่งานเท่านั้น แต่จะเป็นเวลาและพลาสติกที่เสียไปด้วย

5.5 Support Pattern (โครงสร้างในการพิมพ์ Support)

สำหรับ Pattern หรือ รูปแบบ จะเป็นช่องสำหรับเลือกว่าอยากให้โครงสร้างของ Support หรือตัวรองรับที่จะพิมพ์ออกมา เป็นโครงสร้างแบบไหน ซึ่งโปรแกรม Cura ก็จะมีให้เลือกอยู่หลายรูปแบบ แต่ละแบบก็จะให้ความแข็งแรงและความเร็วในการพิมพ์แตกต่างกัน

5.6 Support Density (ความหนาแน่นของ Support)

ในส่วนของหัวข้อนี้ จะเป็นความหนาแน่น หรือปริมาณของ Support ที่จะให้พิมพ์ขึ้นมา ซึ่งค่าในช่องนี้ มีค่าให้ใส่เป็น % ควรจะมีความพอดี ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป ถ้ามากเกินไป ก็จะเสียเวลาพิมพ์ และพลาสติกที่ใช้พิมพ์ รวมไปถึงอาจจะทำให้แกะ Support ออกมายาก แต่ถ้าน้อยเกินไป ก็จะทำให้งานพิมพ์เสียได้ เพราะ Support หรือตัวรองรับที่มาค้ำนั้นไม่พอ ให้งานที่พิมพ์ตรงนั้น อยู๋ในตำแหน่งได้

5.7 Support Horizontal Expansion (ขยายขอบข้าง Support)

ค่าในช่องนี้จะเป็นส่วนในการขยายขนาดของ Support ที่มืฐานรากเล็กๆ ในบางครั้งโปรแกรมจะสร้าง Support ที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ เส้นเดียว ซึ่งเครื่องพิมพ์ 3 มิติ บางประเภทอาจจะไม่สามารถฉีดพลาสติกออกมาได้ทัน ทำให้ Support ที่เป็นเส้นเล็กๆ ในส่วนนั้นหายไป ทำให้บางจุดของโมเดล ไม่มี Support มารองรับ การใส่ค่าในช่องนี้ จะเป็นการขยายให้เส้นเล็กๆที่พิมพ์ออกมา มีขนาดที่ยาวมากขึ้นกว่าเดิม ตามค่าที่ใส่ มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร เมื่อเส้นมีความยาวมากขึ้น ก็จะทำให้การฉีดพลาสติก ออกมานั้นง่ายขึ้น

5.8 Gradual Support Infill Steps (สร้าง Support ตามโครงสร้างของโมเดล)

ในส่วนของ Gradual Support นั้นจะคล้ายๆ กับ Gradual Infill ซึ่งจะมีค่าสัมพันธ์กันกับ Support Density ซึ่งหลักการคือการลด Support ในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่นในส่วนของฐานรากด้านล่าง ที่ยังไม่จำเป็นต้องมีมาก ขอแค่เป็นโครง ที่สามารถรองรับ Support ที่จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงชั้นที่ต้องมารับชิ้นงานที่พิมพ์ ซึ่งค่าในช่องนี้ จะเอาไปหาร กับค่า Support Density เช่น ถ้า Support Density เท่ากับ 20% และค่าในช่องนี้ใส่ 2 นั่นก็หมายความว่า เวลาพิมพ์ฐานรากของโครงสร้าง Support ให้ใช้ความหนาแน่น หรือ Density แค่ 10% พอ แต่เวลาพิมพ์ไปเรื่อยๆ จนใกล้จะถึงในจุดที่จะต้องเริ่มพิมพ์งาน ก็ให้เพิ่มปริมาณของ Support ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 20% หรือค่าที่ใส่ใน Support Density การใช้วิธีนี้ จะทำให้ลดการพิมพ์ Support ลงไป โดยที่ไม่กระทบงานพิมพ์

5.9 Enable Support Interface (ตัวรองพื้นก่อนถึงผิวงาน)

สำหรับหัวข้อนี้ จะเป็นการสร้างตัวรองรับที่มีความหนาแน่นมากกว่าค่าที่ตั้งใน Support Density เพื่อมารับในส่วนของพื้นโมเดลที่ต้องสัมผัสกับ Support

ส่วนใหญ่แล้ว โมเดลส่วนที่สัมผัสกับ Support หรือตัวรองรับ เวลาแกะหรือดึง Support ออกมาจะไม่สวย บางที จะมีเส้นพลาสติกย้อยลงมา ดังนั้นการสร้าง Support จะต้องคำนึงถึงท่าทางในการวางงาน ซึ่งถ้ามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อาจจะใช้ตัวช่วยบางอย่างในโปรแกรม Cura มาช่วย เช่น Enable Support Roof และ Enable Support Floor

Enable Support Roof คือส่วนของ Support ที่มีโครงสร้างหนาแน่นกว่า Support ในส่วนอื่นๆ ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งด้านบนสุดของ Support ก่อนที่จะถึงพื้นด้านล่างของตัวงาน ส่วนของ Enable Support Floor คือการพิมพ์ Support ที่มีโครงสร้างหนาแน่น ในชั้นแรกหรือชั้นล่างสุด ก่อนที่จะพิมพ์ Support ในความหนาแน่นที่ตั้งไว้ในส่วนของ Support Density ซึ่งข้อดีของ Enable Support Floor คือช่วยให้ Support ไม่ล้ม ระหว่างพิมพ์ เหมาะสำหรับ Support ที่เป็นเส้นเล็กๆ

EP6. เพิ่มความหนาของผนังให้กับชิ้นงาน และการเปลี่ยนรูปแบบ Infill

ก่อนที่จะไปทำการเปลี่ยนค่าต่างในการพิมพ์ ผมแนะนำให้จำคำศัพท์ที่ใช้ในโปรแกรม Slicer เพราะว่ามันจะช่วยให้การค้นหาหรือเปลี่ยนค่าทำได้ง่ายขึ้น เพราะโปรแกรม Creality Slicer นั้นจะมีค่าให้ตั้งเยอะมากๆ บางที่ก็ซ่อนอยู่ ซึ่งถ้ารู้คำศัพท์ ก็สามารถที่จะค้นในกล่องข้อความได้เลย ซึ่งศัพท์ที่ใช้ในโปรแกรม Slicer นั้น จะมีชื่อเรียกที่ต่างกัน แต่มีความหมายเดียวกัน เช่น Shell ที่แปลว่าผนัง จะใช้ในโปรแกรม Cura แต่ถ้าเป็นโปรแกรม Slic3r ก็จะเรียกว่า Peremiter แทน ซึ่งศัพท์พวกนี้ ทางร้านได้เขียนบทความขี้นมา ถ้าอยากรู้ว่ามีศัพท์ตัวไหนบ้าง สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ Link นี้

การเพิ่มความแข็งแรงให้กับชิ้นงาน ซึ่งค่าที่เปลี่ยนบ่อยๆ จะเป็นความหนาของผนังของงาน ยิ่งผนังยิ่งหนา ชิ้นงานก็จะแข็งแรงมากขึ้น เหมาะสำหรับโมเดลที่พิมพ์แล้วต้องเอาไปยึดกับกำแพงหรือผนัง ที่ต้องมีการขันน็อตยึด สำหรับคนที่อยากรู้รายละเอียดที่ลึกขึ้นเกี่ยวกับผนังของโมเดล ไม่ว่าจะเป็นผนังด้านข้าง หรือผนังด้านบน ด้านล่าง

โปรแกรม Creality Slicer นั้นพัฒนาต่อมาจากโปรแกรม Cura ซึ่งการตั้งค่าจะเหมือนกัน รวมถึงตำแหน่งคำสั่งต่างๆ ก็จะอยู่ที่เดียวกัน สามารถที่จะดู วิดีโอที่ทางร้านเคยทำได้

ในส่วนหัวข้อของ Shell Setting จะเป็นในส่วนของการตั้งค่า เกี่ยวกับผนังชิ้นงานทั้งหมด ทั้งผนังด้านในและผนังด้านนอก รวมไปถึงความหนาของผนังด้านบนและด้านล่าง

Wall ในโปรแกรม Cura หมายถึงผนัง ซึ่งในโปรแกรม Slicer ตัวอื่นๆ อาจจะเรียกว่า Shell หรือ Perimeter

6.1 Wall Thickness (ผนังด้านข้าง)

เป็นการตั้งค่าความหนาของผนัง สำหรับการตั้งค่า Wall ในโปรแกรม Cura นั้นสามารถตั้งได้ 2 วิธี

  • Wall Thickness: ความหนาของผนังด้านข้างทั้งหมด มีหน่วยเป็นมิล
  • Wall Line Count: จำนวนรอบที่พิมพ์ชิดกันในส่วนของผนังด้านข้างทั้งหมด มีหน่วยเป็นรอบ

ซึ่งหลักการในการคำนวนความหนาของผนังในโปรแกรม Cura จะใช้ Line Widht หรือความกว้างของเส้น ที่กำหนดในส่วนของ Quality แล้วคูณด้วยจำนวนรอบ เช่น Line Width ขนาด 0.4 มิล กำหนดพิมพ์ผนังจำนวน 3 รอบ จะได้ความหนาของผนังอยู่ที่ 1.2 มิลลิเมตร

สูตรหาความหนาผนัง = Wall Line Width x Wall Line Count

แต่ถ้ากำหนดความหนาเป็น 1 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อหารกับขนาดรูหัวฉีดแล้วจะไม่ลงตัว ตัวโปรแกรมจะทำการปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็ม และให้ใกล้เคียงกับกับความหนาของผนัง เช่น ใส่ความหนา 1 มิล ตัว Wall Line Count จะปรับเป็น 2 ให้ การใส่ค่าความหนาของผนัง ควรจะเลือกอย่างใดอย่างนึง ไม่จำเป็นต้องกำหนดทั้ง 2 ตัว

ซึ่งในโปรแกรม Cura ถ้าผุ้ใช้กำหนดความหนาของผนังเป็นจำนวนรอบ ตัวโปรแกรมจะทำการ Disable ในส่วนของ Wall Thickness ให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้จะเปลี่ยนค่าไม่ได้

6.2 Top / Bottom Thickness (ผนังด้านบนและล่าง)

ในส่วนความหนาของ Top และ Bottom นั้นก็สามารถตั้งค่าความหนาได้ 2 แบบเหมือนกันกับ Wall คือ ระบุเป็นหน่วยมิล หรือจะระบุเป็นจำนวนชั้นของเลเยอร์ ซึ่งการพิมพ์ Top กับ Bottom จะเป็นการพิมพ์แบบทึบหรือพิมพ์แบบเส้นชิดติดกันเป็นผนังแบบปิดเรียบ ซึ่งมีตัวแปรในการตั้งค่าดังนี้

  • Top / Bottom Thickness: เป็นการตั้งค่าในส่วนของความหนาผนังด้านบนและด้านล่างให้เท่ากัน ซึ่งระบุความหนา เป็นหน่วยมิลลิเมตร การเปลี่ยนค่าในช่องนี้ จะมีผลกับค่าในช่อง Top Thickness และ Bottom Thickness
  • Top Thickness: เป็นการตั้งค่าความหนาเฉพาะผนังด้านบน มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
  • Top Layer: เป็นการตั้งค่าความหนาเฉพาะผนังด้านบน ซึ่งจะกำหนดเป็นจำนวนชั้น
  • Bottom Thickness: เป็นการตั้งค่าความหนาเฉพาะผนังด้านล่าง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
  • Bottom Layer: เป็นการตั้งค่าความหนาเฉพาะผนังด้านล่าง ซึ่งจะกำหนดเป็นจำนวนชั้น

การกำหนดความหนาของ Top และ Bottom นั้นสามารถทำได้ 2 แบบคือใส่ความหนา หรือจำนวนชั้น ซึ่งถ้าใส่เป็นความหนา ตัวโปรแกรม Cura จะคำนวนจำนวนชั้นให้เองโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าใส่ความหนา แล้วคำนวนจำนวนชั้นออกมาเป็นเศษ ตัวโปรแกรมก็จะใส่จำนวนชั้นให้ได้ใกล้เคียงกับความหนาที่ใส่มา

สูตรหาความหนา Top/Bottom = Top/Bottom Layer x Layer Height

6.3 Optimized Wall Printing Order

สำหรับค่าในช่องนี้ จะเป็นการให้เลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ซึ่งค่าในช่องนี้ จะเป็นการปรับลำดับในการพิมพ์ Wall หรือผนัง ซึ่งถ้าเปิดใช้ จะช่วยลดเวลาในการพิมพ์ลง เพราะโปรแกรมจะไปปรับลดการเดินหัวเปล่า หรือ Travel ลง เพราะตัวโปรแกรม Cura จะจัดการ พิมพ์ผนังให้ได้ความหนาที่ใส่มาให้เสร็จก่อนในแต่ละส่วน ก่อนที่จะย้ายให้หัวพิมพ์ไปพิมพ์ในส่วนอื่นๆ

6.4 Fill Gaps Between Wall (เติมเนื้อในร่อง)

สำหรับความหมายของค่าในช่องนี้ คือการเติมเนื้อพลาสติกลงไปในช่องว่าง หรือช่องเล็กๆให้เต็ม ซึ่งจะทำให้ชิ้นงานในส่วนของผนังด้านบนและด้านล่างที่พิมพ์เสร็จออกมาแล้ว มีเนื้อเต็ม ไม่มีร่องหรือช่องว่างระหว่างพลาสติก ซึ่งถ้าจะเปิดใช้ให้เลือกเป็น Everywhere

6.5 Horizontal Expansion (ชดเชยขนาดในแนวแกน X และ Y)

ในส่วนของค่าในช่องนี้ จะเป็นส่วนของการชดเชยขนาดงานพิมพ์ เนื่องจากการหดตัวของเส้นพลาสติก ซึ่งตัวเลขในช่องนี้ สามารถใส่ค่า บวก หรือ ค่าลบ ก็ได้ สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ส่วนใหญ่เวลาพิมพ์งานออกมา อาจจะมีขนาดไม่เท่ากับแบบที่เขียนเอาไว้ ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ถ้าคิดว่า เครื่องที่ใช้อยู่ มีการปรับแต่งที่ดีแล้ว การหดหรือขยายตัว อาจจะมาจาก เส้นพลาสติกที่ใช้ ดังนั้นถ้าต้องการให้งานพิมพ์มีขนาดพอดี ก็อาจจำเป็นต้องให้โปรแกรม ทำการชดเชยค่าให้

ถ้าในกรณีที่โมเดลพิมพ์ออกมาใหญ่เกินไปข้างละ 1 มิล ก็ให้ใส่ค่า -1 ลงไป แต่ถ้ากลับกัน โมเดลพิมพ์ออกมาเล็กเกินไป 1 มิล ก็ให้ใส่ 1 ลงไปแทน ตัวโปรแกรมก็จะทำการชดเชยให้โดยอัตโนมัติ แต่ก่อนที่จะใช้ฟังค์ชั่นนี้ ควรจะทำการ Calibrate เครื่องพิมพ์เสียก่อน

ในทางกลับกัน ในส่วนของรูใน ตัวโปรแกรม Cura ก็มีค่าให้ตั้งในส่วนนี้โดยเฉพาะเรียกว่า Hole Horizontal Expansion ซึ่งการตั้งค่าจะกลับกัน ถ้ารูเล็กกว่าแบบที่เขียน ให้ใส่ค่าบวก แต่ถ้ารูใหญ่กว่าแบบที่เขียน ให้ใส่ค่าลบ

6.6 Enable Ironing (ทำผิวเรียบด้านบน)

สำหรับฟีเจอร์นี้เป็นฟีเจอร์ ที่เอาไว้ทำผิวด้านบนสุดของชิ้นงาน ให้เรียบเหมือนกับงานฉีดพลาสติก ซึ่งจะใช้หลักการ ให้หัวพิมพ์ฉีดพลาสติกออกมาบางๆ และเส้นทางเดินของหัวพิมพ์จะถี่ขึ้น เพื่อให้ความร้อนของหัวฉีดไปรีดเส้นที่อยู่บนสุด ให้เรียบและเนียน ซึ่งการเปิดใช้ฟังค์ชั่นนี้ จะทำให้การพิมพ์งานนั้นนานขึ้น และเหมาะสำหรับโมเดล 3 มิติบางประเภทเท่านั้น เช่นกล่องใส่ของ หรือโมเดลที่มีพื้นผิวด้านบนขนาดใหญ่

นอกจากผนังแล้ว ตัวโปรแกรมยังสามารถที่เปลี่ยนโครงสร้างด้านใน หรือ Infill เพื่อให้โมเดลมีความแข็งแรงมากขึ้น

สำหรับ Infill หรือโครงสร้างด้านในชิ้นงาน เป็นส่วนทีสำคัญ สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพราะเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงของชิ้นงาน ซึ่งส่วนนี้ผู้ใช้จะสามารถกำหนดได้ทั้งปริมาณและรูปแบบของ Infill

ถ้าพิมพ์ Infill มาก ก็จะใช้เวลาพิมพ์นาน และใช้เส้นพลาสติกเยอะ แต่งานที่ได้ก็จะออกมาแข็งแรง ในทางกลับกัน ทางกำหนด Infill น้อย เวลาพิมพ์งานก็จะเร็วขึ้น พลาสติกที่ฉีดออกมาก็จะน้อยลง ส่วนงานก็อาจจะไม่แข็งแรง เหมาะแค่เอาไปดูรูปทรง ไม่สามารถนำไปใช้จริงได้

ส่วนประกอบของการตั้งค่า Infill จะมีหลายอย่างดังนี้

6.7 Infill Density (ปริมาณของโครงสร้างด้านใน)

ปริมาณของโครงสร้างด้านใน ซึ่งในโปรแกรม Cura สามารถตั้งได้ 2 แบบ คือ Infill Desity ที่มีหน่วยเป็น % กับ Infill Line Distance ซึ่ง 2 ค่านี้มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งการกำหนดก็ควรจะเลือกใช้ตัวใดตัวนึง เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ทั้ง 2 ค่า เพราะถ้าใส่ค่าในช่อง Infill Desity ค่าในช่อง Infill Line Distance ก็จะเปลียนไปเองโดยอัตโนมัติ

ค่าที่ใส่ในช่อง Infill Density จะใส่ได้ตั้งแต่ 0 – 100% ถ้าใส่ 0 จะหมายความว่า ให้พิมพ์งานกลวง ไม่ต้องใส่ Infill แต่ถ้าใส่ 100 ก็จะพิมพ์งานตัน

สำหรับ Infill Line Distance จะให้ใส่ค่าเป็นระยะห่างระหว่างเส้นของ Infill มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ถ้าตัวเลขยิ่งน้อย เส้นพิมพ์ Infill ก็จะยิ่งชิดกัน นั้นหมายถึง เส้นโครงสร้างด้านในก็จะเยอะ ในทางกลับกันถ้า ค่าตัวเลขยิ่งเยอะ เส้นที่พิมพ์ Infill ก็จะยิ่งห่าง ถ้ามีการใส่ค่าในช่อง Infill Line Distance ช่อง Infill Desity จะถูกล็อค ไม่ให้ใส่ค่า

6.8 Infill Pattern (รูปแบบโครงสร้าง Infill)

สำหรับช่องนี้จะเป็นช่อง Drop Down List ที่ให้เลือก ซึ่งจะเป็นรูปแบบโครงสร้างด้านใน ผู้ใช้สามารถเลือกได้ ตามความเหมาะสม ซึ่งถ้าให้แยกออกมาจะมีด้วยกัน 4 รูปแบบ ซึ่งในแต่ละรูปแบบก็จะมี Pattern ให้เลือกอีก

รูปแบบ Infillการนำไปใช้
– Grid
– Triangles
– Tri Hexagon
สำหรับการพิมพ์งานทั่วๆไป

– Linesสำหรับพิมพ์งานด่วน แต่โมเดลที่ได้จะไม่แข็งแรง
– Cubic
– Cubic Subdivision
– Octlet
– Quarter Cubic
– Gyroid Infill
สำหรับพิมพ์งานที่ต้องการความแข็งแรงมากๆ
-Concentric
-Cross
-Cross 3D
สำหรับพิมพ์งานที่ใช้พลาสติกประเภทยางหรือ TPU

6.9 Infill Overlap Percentage (เพิ่มระยะเส้นให้ชิดกับขอบ)

ในส่วนของ Infill Overlap Percentage จะหมายถึง การให้หัวพิมพ์ฉีดเส้น Infill หรือ โครงสร้างด้านใน ให้ไปเกย กับขอบผนังชิ้นงานขึ้นไปกี่ % ซึ่งตัวเลขยิ่งมาก ก็จะทำให้เส้น Infill เชื่อมติดกับผนังได้ดีขึ้น เพราะมีเนื้อพลาสติกออกมาทับกับผนัง แต่ถ้ามากเกินไป ก็จะทะลุออกมาด้านนอก เวลามองชิ้นงานน ก็จะเห็นเป็นลาย Infill ซึ่งโดยปกติ ค่ามาตรฐาน ก็จะอยู่ที่ 30-35 %

6.10 Gradual Infill Step (โครงสร้างภายในตามรูปงาน)

ในส่วนของช่องนี้คือ Gradual (กราดัว) Infill Step เป็นค่าที่จะช่วยลดเวลาในการพิมพ์งานลง โดยไปลด Infill ในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เหมาะสำหรับงานที่มีผิวบนกว้าง ซึ่งค่าตัวนี้จะไปสัมพันธ์กันกับ Infill Density ที่ใส่ไป หลักการใช้งานก็คือ Infill ที่อยู่ด้านล่าง ไม่จำเป็นต้องมีให้เยอะ เท่ากับ Infill ที่อยู่ด้านบน ที่มีหน้าที่ต้องมารองรับผิว Solid ที่พิมพ์ปิดทึบ ซึ่งถ้าลด Infill อาจจะทำให้ผิวด้านบนปิดไม่สนิท ดังนั้นการใช้ Grudal Infill จะมาช่วยตรงจุดนี้ ยกตัวอย่าง ใส่ Infill Density เป็น 20% แล้วใส่ค่า Gradual Infill Step เป็น 2 จะหมายความว่า ให้เลเยอร์ที่อยู่ด้านล่างพิมพ์ Infill ที่ 10% ซึ่งมาจาก 20% หารด้วย 2 พอพิมพ์งานใกล้ๆถึงผิวด้านบน ให้เริ่มเพิ่ม Infill ไปให้ถึง 20% ซึ่ง Infill ปริมาณนี้ ก็จะทำให้ผิวด้านบนปิดได้สนิท

EP7. เจาะลึกหน้าต่าง Preview สำหรับดูทางเดินหัวพิมพ์

ก่อนที่จะ Save ไฟล์ไปพิมพ์กับเครื่องนั้น จำเป็นต้องตรวจเช็คทางเดินหัวพิมพ์ ก่อนทุกครั้ง ซึ่งการเช็คในส่วนนี้จะอยู่ในแทบ Preview สำหรับวิดีโอที่ใช้สอน จะดึงมาจากโปรแกรม Cura ซึ่งสามารถนำสิ่งที่สอน มาใช้กับโปรแกรม Creality Slicer ได้

สำหรับแถบที่บอกงานเป็นสีหรือ Color Scheme ในหน้า Preview สามารถเลือกดูได้หลายแบบ ดังนี้

Line Type เป็นการดูชนิดเส้นที่เดินในชิ้นงานโมเดล 3 มิติ ซึ่งตรงนี้จะแยกออกมาเป็นสีๆ ให้ผู้ใช้โปรแกรม สามารถแยกได้ว่า หัวพิมพ์เดินแบบไหน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น

  1. Travels เส้นสีน้ำเงิน: เป็นเส้นที่บอกทางเดินหัวพิมพ์ ตอนที่ไม่ได้พิมพ์งาน เป็นจังหวะที่หัวพิมพ์เคลื่อนที่ไปยังดำแหน่งอื่น เพื่อเตรียมจะพิมพ์ เส้นนี้เป็นอีกเส้นที่สามารถบอกได้ว่า ใยพลาสติกจะเกิดขึ้นตรงไหน เวลาพิมพ์งานเสร็ต ถ้าอยากไม่ให้มีใยพลาสติกพาดไปมาระหว่างชิ่นงาน ต้องพยายามตั้งค่าให้เส้นนี้ ไม่กระโดดไปมา ซึ่งสามารถเปิดใช้ฟีเจอร์ Combing เพื่อช่วยลดการกระโดดไปมาของเส้นนี้
  2. Helpers เส้นสีฟ้าอ่อน: เป็นเส้นที่แสดงถึงพลาสติกที่มีหน้าที่เข้ามาช่วยให้โมเดลที่พิมพ์ สามารถพิมพ์ได้ ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย Skirt / Raft และก็ Support หรือตัวรองรับ
  3. Shell เส้นสีแดง: เส้นนี้เป็นเส้นที่บอกว่า ตรงไหนคือผนังของชิ้นงาน ซึ่งผนังที่เป็นสีแดง คือผนังที่อยู่ด้านนอกสุดของชิ้นงาน 3 มิติ
  4. Infill เส้นสีส้ม: เป็นเส้นที่บอกในส่วนของโครงสร้างด้านในของชิ้นงาน 3 มิติ ที่เรียกว่า Infill
  5. Top/Bottom เส้นสีเหลือง: เป็นเส้นทีบ่งบองถึงฐานด้านล่างสุด และด้านบนสุดของชิ้นงาน เป็นเส้นที่พิมพ์ชิดกันเพื่อปิดผิว ด้านบนและด้านล่างให้สนิท
  6. Inner Wall: เส้นสีเขียว: เป็นเส้นที่จะอยู่ถัดจากเส้นสีแดงหรือ Shell ซึ่งเส้นนี้จะอยู่ด้านใน เรียกอีกอย่างว่า ผนังด้านใน
Updated on 16/08/2023

Was this article helpful?