ก่อนที่จะใช้เครื่อง แนะนำให้อ่านคู่มือ เพื่อเรียนรู้ส่วนประกอบของเครื่อง รวมไปถึงการประกอบและการตั้งค่าเบื้องต้น ก่อนการใช้งาน
ข้อแนะนำในการใช้งาน
- ไม่ใช้เครื่องเกินขอบเขตหรือนอกเหนือจากสิ่งที่ระบุในคู่มือ เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายในการใช้งาน
- ไม่วางเครื่องไว้ใกล้กับวัตถุไวไฟ หรือติดไฟ แนะนำให้วางเครื่องในห้องที่มีอากาศถ่ายเท และไม่มีฝุ่น
- ไม่วางเครื่องบนพื้นที่ ที่มีการสั่นไหว หรือไม่มั่นคง เพราะจะทำให้คุณภาพงานที่พิมพ์ออกมาต่ำและดูไม่ดี
- แนะนำให้ใช้เส้นพลาสติกที่มีคุณภาพ มีขนาดที่สม่ำเสมอ เพื่อป้องกัน อาการหัวฉีดตันหรือฉีดเส้นไม่ออก
- ให้ใช้สายไฟที่มากับเครื่อง เพราะเป็นสายที่ทดสอบแล้ว ว่าพอดีกับกำลังไฟของเครื่อง ไม่ควรใช้สายไฟสายเล็กเพราะจะทำให้เกิดความร้อนสะสมในสายไฟ เวลาที่เครื่องทำงาน และควรเสียบปลั๊กลงในช่องที่มีการต่อสายดิน
- ห้ามจับหรือแตะหัวฉีดในขณะที่เครื่องกำลังทำงาน เพราะอาจจะทำให้เกิดแผลไหม้และพุพองได้
- หลังจากที่พิมพ์งานเสร็จ ให้ทำความสะอาดหัวฉีดทุกครั้ง ในส่วนของปลายหัวฉีดที่มีเศษพลาสติกติดอยู่ ห้ามระวังในการใช้มือสัมผัสหรือแตะที่หัวฉีด เพราะหัวฉีดยังคงร้อนอยู่ แม้ว่าเครื่องจะหยุดทำงานหรือปิดไปแล้ว
- ควรทำความสะอาดเครื่องเป็นประจำ โดยใช้ผ้าแห้ง ทำการเช็ดฝุ่นรอบตัวเครื่อง การทำความสะอาดเครื่อง จำเป็นต้องเปิดเครื่องก่อนทุกครั้ง
ส่วนประกอบของตัวเครื่อง

- ฐานพิมพ์
- แกน X เคลื่อนที่ซ้าย-ขวา
- ชุดหัวฉีด
- ที่แขวนเส้นพลาสติก
- ตัวปรับความตึงสายพานแกน X
- หน้าจอแสดงผล
- ปุ่มสำหรับเลือกคำสั่งที่หน้าจอ
- ช่องเสียบปลั๊กสายไฟ Power
- ตัวปรับกระแสไฟระหว่าง 110 กับ 220 โวลท์
- มอเตอร์แกน Z
- โครงสร้าง รองรับแกน X
- มอเตอร์แกน X
- คับปลิ้งต่อมอเตอร์กับ lead Screw แกน Z
- ช่องเสียบ USB type C
- ช่องเสียบ SD Card
- สวิตช์ เปิด-ปิด เครื่อง
วิธีการประกอบเครื่อง
สำหรับเครื่อง Ender 3 V3 SE จะมาในรูปแบบ Kit ที่มีการประกอบมาแล้วบางส่วน ซึ่งลูกค้าที่ซื้อเครื่องไป ต้องทำการประกอบในส่วนที่เหลือ ซึ่งประกอบไม่ยาก เครื่องมือที่ใช้ในการประกอบก็จะมีไปพร้อมกับเครื่อง

ในกล่องจะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนตามภาพ
- ส่วนฐานเครื่อง
- โครงเครื่องที่มาพร้อมกับชุดหัวพิมพ์
- หน้าจอพร้อมปุ่มสั่งงาน
- ที่แขวนม้วนเส้นพลาสติก
- สกรูหัวจมขนาด M3 x 14 จำนวน 6 ตัว
- สกรูหัวร่มขนาด M4 x 10 จำนวน 3 ตัว
- สกรูหัวร่มขนาด M5 x 8 จำนวน 2 ตัว
- สกรูหัวจมขนาด M3 x 8 จำนวน 2 ตัว
- เครื่องมือสำหรับใช้ประกอบและซ่อมบำรุง
- ตัวล็อคชุดสายไฟ เข้ากับชุดหัวฉีด
- สายไฟ
- คีมตัด สำหรับตัดตัวรองรับหรือ Support
- เส้นพลาสติกสำหรับทดลองเครื่อง
- เข็มทำความสะอาดปลายหัวฉีด
- หัวฉีดสำรอง
- แผ่น SD card และตัวอ่าน SD card แบบเสียบ USB
1. ประกอบตัวโครงเครื่องเข้ากับฐานพิมพ์
ซึ่งจะใช้สกรูหัวจมขนาด M3 x 14 จำนวน 6 ตัว ขันเพื่อยึด โครงเครื่องกับฐานเข้าด้วยกัน ซึ่งจะมี 2 ฝั่ง ซ้าย- ขวา แต่ละฝั่งใช้สกรูหัวจมขนาด M3 x 14 ข้างละ 3 ตัว เวลาขัน ให้ขันจากด้านใต้ของเครื่อง ขึ้นไปข้างบน หลังจากขันยึดโครงเครื่องกับฐานแล้ว ให้นำสกรูหัวจมขนาด M3 x 8 จำนวน 2 ตัว ขันยึดตัวแกนสกรู เข้ากับฐานเครื่อง

2. ประกอบหน้าจอ
สำหรับหน้าจอ ถ้าหันหน้าเข้าเครื่องจะอยู่ทางด้านขวา ซึ่งจะใช้ สกรูหัวร่มขนาด M4 x 10 จำนวน 3 ตัว สำหรับการยึดหน้าจอเข้ากับฐานเครื่อง หลังจากยึดหน้าจอแล้ว ให้เสียบสายไฟ จากฐานเครื่องเข้ากับหน้าจอ

3. ประกอบตัวแขวนเส้นเข้ากับโครงเครื่อง
ตัวแขวนเส้นนั้น จะอยู่ด้านบนของโครงเครื่องพิมพ์ ซึ่งต้องใส่ให้ถูกด้าน โดยด้านที่เอาเส้นแขวนจะต้องอยู่ด้านหน้า การยึดตัวแขวนเส้น ให้ใช้ สกรูหัวร่มขนาด M5 x 8 จำนวน 2 ตัว ขันยึดเข้ากับโครง

4. เชื่อมต่อระบบไฟ และการเก็บสายให้เป็นระเบียบ
4.1 ให้นำชุดสายไฟ ที่อยู่กับฐานเครื่องมา เสียบเข้ากับชุดหัวฉีด เมื่อเสียบเข้าไปแล้ว ให้ใช้ ตัวล็อคชุดสายไฟ เข้ากับชุดหัวฉีด (FCC Fixing)

4.2 ทำการเสียบสายไฟ เข้ากับมอเตอร์แกน X และจัดระเบียบพร้อมเก็บชุดสายไฟ ให้เข้าที่ โดยให้สอดและเก็บเข้าไป ตามรูปด้านล่าง

4.3 เสียบสายไฟ เข้ากับมอเตอร์แกน Z

การใส่เส้นพลาสติก
หลังจากที่ประกอบเครื่องเสร็จ ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการใส่เส้นพลาสติก ซึ่งวิธีการใส่เส้น จะมี 2 วิธีด้วยกัน วิธีแรก จะเป็นการใส่แบบ แมนนวล โดยใช้มือช่วยดันเส้นพลาสติก เข้าไปที่หัวฉีด สำหรับวิธีที่ 2 จะเป็นแบบ Auto ซึ่งจะใช้ การกดคำสั่งที่หน้าจอ
1.การใส่เส้นแบบแมนนวล
ให้เปิดความร้อนที่หัวฉีดก่อน กดไปที่ Prepare แล้ะว เลือก คำว่า Preheat PLA ตัวเครื่องจะทำการอุ่นฐานและหัวฉีดให้ ไปตามค่าที่ตัวเครื่องได้ตั้งเอาไว้ ให้รอจนกว่าความร้อน ที่หัวฉีดเท่ากันทั้ง 2 ด้าน


เมื่อความร้อนที่หัวฉีดมีค่าที่เท่ากัน ทั้งหน้าและหลังแล้ว ให้เอาเส้นใส่เข้าไป โดยใช้นิ้วกด Clamp ตรงหัวฉีด เพื่อทำการง้างสปริงที่อยู่ด้านใน ให้กดค้างไว้ แล้วใช้อีกมือ เอาเส้นที่ตัดปลายแหลม เสียบและใส่ลงไปในช่องใส่เส้นพลาสติก ให้เอามือดันเส้นพลาสติกลงไป จนกว่าเส้นจะไหลออกไปที่ปลายหัวฉีด เมื่อเห็นเส้นไหลออกมาแล้ว ก็ปล่อยมือที่กด Clamp ออกได้

2.การใส่เส้นแบบออโต้ (Auto Feed)
การใส่เส้นแบบออโต้ สามารถทำได้ แต่อาจจะช้ากว่าการใส่เส้นแบบแมนนวล เพราะต้องรอให้มอเตอร์ค่อยๆดันเส้นลงไป ซึ่งสามารถทำได้ตามขั้นตอนนี้

กดปุ่ม Prepare แล้วเลือกคำสั่ง Extruder ตัวเครื่องจะทำการ Home แล้วอุ่นหัวฉีด ช่วงที่ความร้อนกำลังขึ้นให้ตัดเส้นพลาสติกเป็นปลายแหลม เสร็จแล้วให้แหย่เส้น ลงไป แล้วกด OK หรือ Confirm
3. การเอาเส้นออกแบบออโต้ (Auto Retract)
สำหรับการเอาเส้นออก ก็จะทำคล้ายกับเอาเส้นเข้า แต่เปลี่ยนคำสั่งจาก Extrude เป้น Retract แทน หลังจากนั้นตัวเครื่องก็จะทำการอุ่นหัวฉีด พอความร้อนขึ้นถึงแล้ว ตัวดันเส้น จะทำการดันเส้นลงมาก่อนนิดนึง แล้วจึงค่อยดึงเส้นขึ้น พอเส้นถูกดึงขึ้นมา ก็ให้เอามือดึงเส้นออกจากเครื่อง

การปรับตั้งฐานพิมพ์
สำหรับเครื่อง Ender 3 V3 SE นั้นจะมาพร้อมกับตัวเซนเซอร์ ที่สามารถวัดระนาบ สูง-ต่ำ หรือความเอียงของฐานได้ โดยที่ตัวเครื่องจะทำการวัด และจำค่าที่วัดได้ มาคำนวนและชดเชยให้แบบอัตโนมัติ ช่วยให้เส้นที่ฉีดออกมา ติดแน่นบนฐาน ไม่หลุดระหว่างพิมพ์lesi

ขั้นตอนในการวัดฐานแบบอัตโนมัติ ให้กดปุ่ม Leveling ตัวเครื่องจะเข้าสู่โหมดวัดฐาน ซึ่งหัวพิมพ์จะเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ ที่กำหนดไว้ แล้วใช้เซนเซอร์ จิ้มไปที่ฐาน เพื่อวัดความสูงในแต่ละจุด เมื่อวัดเสร็จแล้วก็จะแสดงผลออกมา
การอุ่นเครื่องก่อนพิมพ์
ตัวเครื่อง จะมีฟีเจอร์สำหรับอุ่นหัวฉีดและฐานพิมพ์ ซึ่งจะมีค่า Profile ของเส้นที่ใช้ให้ 2 แบบ คือ PLA และ TPU ซึ่งพลาสติกแต่ละแบบจะใช้ ความร้อนหัวฉีด และฐานพิมพ์ไม่เท่ากัน ซึ่งถ้าใช้เส้นพลาสติกตัวไหนก็ให้เลือกตัวนั้น
การอุ่นเครื่องหรือ Preheat สามารถทำได้ โดยการกดปุ่ม Prepare แล้ว เลือกไปที่ Preheat ของเส้นพลาสติกที่ต้องการ

การลงโปรแกรม Slicer และการสร้างไฟล์
หลังจากที่ประกอบ ใส่เส้นพลาสติก และปรับตั้งฐานพิมพ์ เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป ก็คือการสั่งให้เครื่องทำงาน ซึ่งการใช้งานเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้น อย่างแรกที่ต้องมีก็คือ ไฟล์โมเดล 3 มิติ ที่ต้องการพิมพ์ ซึ่งจะเขียนขึ้นมาเองหรือจะไป Download มาก็ได้ แต่ถ้าใครยังเขียนไม่เป็น ก็ลองเข้าไปอ่าน 7 เว็บแจกไฟล์ 3D ยอดนิยม เพื่อไปโหลดโมเดลมาพิมพ์เล่นก่อนได้
หลังจากที่ได้ไฟล์มาแล้ว ก็ต้องเข้าโปรแกรมที่เรียกว่า Slicer เพื่อทำการ จัดวางแนว ที่จะพิมพ์ รวมถึงเลือกเส้นพลาสติกที่จะใช้ และความละเอียด / ความแข็งแรงที่ต้องการ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า Slicer สำหรับโปรแกรม Slicer ที่จะใช้กับเครื่อง Creality ทางร้านแนะนำให้ใช้โปรแรกมของเขาเลย เพราะจะมี Preset การตั้งค่ามาให้แล้ว ไม่ต้องไปนั่งหาเอง ตัวโปรแกรมมีชื่อว่า Creality Print มีให้เลือกลงทั้ง Window / Mac OS และ Linux

หลังจากที่ลงโปรแกรมเสร็จ เวลาเปิดตัวโปรแกรมขึ้นมาครั้งแรก ตัวโปรแกรมจะให้ผู้ใช้เลือกภาษาที่จะใช้ ขั้นตอนต่อไปก็ให้เลือกรุ่นเครื่อง เมื่อเลือกรุ่นเครื่องเสร็จ ก็จะให้เลือกขนาดรูหัวฉีด ซึ่งมาตรฐานของเครื่องทุกรุ่น จะมาพร้อมกับหัวฉีดขนาดรู 0.4 มิล หลังจากเลือกทั้งหมดแล้ว ก็สามารถที่จะใช้โปรแกรมได้เลย โดยการกดปุ่ม Import File แล้วเลือกไฟล์โมเดล 3 มิติ ที่ต้องการจะปริ้น นามสกุลของไฟล์ที่เอาเข้ามาในโปรแกรมได้จะต้องเป็นไฟล์ นามสกุล .STL / .OBJ / .3MF

หลังจากโหลดไฟล์มาแล้ว ก็ทำการตั้งค่าการพิมพ์ เลือกเส้นพลาสติก และ Infill หรือความแข็งแรงที่ต้องการ จากนั้นกดปุ่ม Slice ตัวโปรแกรมก็จะเอาค่า Setting ที่ได้มา สร้างเป็นทางเดินของหัวพิมพ์ แล้วจำลองออกมาให้เห็นในหน้าต่าง Preview ถ้าดูแล้วพอใจ ก็ให้กด Export to Local เพื่อบันทึกไฟล์ใส่ลงใน SD card เพื่อเอาไปใช้พิมพ์กับเครื่อง

สำหรับขั้นตอนการใช้ 3D Printer ระบบ FDM ที่ใช้หลักการฉีดพลาสติก จะใช้ขั้นตอนประมาณนี้ เหมือนกันหมด ซึ่งถ้าอยากอ่านแบบเจาะลึก แนะนำให้อ่าน 8 ขั้นตอนที่ถูกต้องในการใช้งาน เครื่องปริ้น 3D Printer
การสั่งเครื่องให้ปริ้นงาน
หลังจากได้ไฟล์ที่ทำมาจากโปรแกรม Creality Print แล้ว ก็ให้เอาไฟล์ บันทึกลง SD Card แล้วเอามาเสียบที่ด้านข้างของเครื่อง เมื่อเสียบแล้วให้กดคำสั่ง Print แล้วเลือกไฟล์ที่ต้องการจะปริ้น เมื่อเลือกแล้ว ตัวเครื่องจะทำการอ่านค่าความร้อนที่อยู่ในไฟล์ และทำการอุ่นหัวฉีด และฐานพิมพ์ ให้อัตโนมัติ พอความร้อนถึงแล้ว ตัวเครื่องก็จะเริ่มทำงาน

ข้อควรระวัง
- ห้ามบันทึกไฟล์ ลงใน Folder เพราะจะทำให้เครื่องมองไม่เห็นไฟล์
- ชื่อไฟล์จะต้องเป็นภาษาอังกฤษ ห้ามใช้ตัวอักษรหรืออักขระพิเศษ และความยาวของชื่อจะต้องไม่เกิน 20 ตัวอักษร
- ห้ามดึงแผ่น SD Card ออกในขณะที่เครื่องกำลังพิมพ์งาน
การปรับตั้งค่า Z-Offset สำหรับฉีดพลาสติกชั้นแรก
ในหัวข้อนี้ เป็นเรื่องของการปรับความสูง ต่ำของหัวฉีด ในขณะที่เครื่องกำลังพิมพ์เลเยอร์แรก ซึ่งเป็นเลเยอร์ที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าหัวฉีดอยู่สูงเกินไป เส้นพลาสติกที่ฉีดออกมา ก็จะไม่เกาะกับฐานพิมพ์ ถ้าปล่อยไว้ ชิ้นงานก็จะหลุดออกระหว่างพิมพ์ ในทางตรงข้าม ทางหัวฉีดชิดกับฐานมากเกินไป เส้นพลาสติกก็จะออกมายาก หรือออกมาแล้วผิวเป็นลูกคลื่น ทำให้การพิมพ์ในชั้นต่อไป เกิดการสะดุด ทำให้หัวพิมพ์เคลื่อนออกจากตำแหน่ง และทำให้งานเสียได้

ดังนั้น การปรับตั้งค่าความสูงของหัวฉีด จะต้องปรับให้ได้ค่าที่เหมาะสม ซึ่งสามารถใช้ฟีเจอร์ Z-Offset ในการปรับได้ การใช้งาน Z-Offset สามารถทำได้ ในเวลาที่หัวพิมพ์กำลังเริ่มพิมพ์งาน หรือเลเยอร์แรก โดยให้กดปุ่ม Tune แล้ว เลื่อนหาคำสั่ง Z-Offset เมื่อกดเข้าไปแล้ว ก็ให้ทำการหมุนปุ่มลูกบิด เพื่อปรับความสูงของหัวฉีด

การยกเลิกหรือหยุดพิมพ์
ในบางครั้ง ชิ้นงานที่ปริ้นอาจจะเสีย ไม่สวย และต้องการยกเลิก สามารถทำได้โดย กดปุ่ม Stop เพื่อเป็นการยกเลิก แต่ถ้ากดปุ่ม Pause ที่อยู่ตรงกลาง จะเป็นการหยุดชั่วคราว สามารถสั่งพิมพ์ต่อที่เดิมได้
