งานพิมพ์หลุดจากฐาน (FDM)

สำหรับปัญหานี้ ผมเชื่อว่าหลายๆคนเคยเจอกันอย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้ สำหรับคนที่ใช้เครื่องปริ้น 3 มิติ สำหรับสาเหตุที่ปริ้นแล้วงานหลุด ส่วนใหญ่มาจากฐานปริ้นสกปรก หรือไม่ได้ระบาบ ตอน Calibrate ถ้าเป็นเครื่องสมัยเก่า จะเจอปัญหาเรื่องฐานปริ้นไม่ได้ระนาบบ่อยมาก เพราะการตั้งฐาน ยังเป็นระบบแมนนวล ที่ใช้มือปรับ และตั้งให้มุมของฐานที่ด้าน เท่ากัน ซึ่งการตั้งฐานแบบนี้ ขึ้นอยู่กับทักษะและความใจเย็น ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน แต่ถ้าเป็นเครื่องรุ่นใหม่ๆ จะมีอุปกรณ์เซนเซอร์ที่ช่วยวัดฐานปริ้น และปรับชดเชยให้ ซึ่งถ้าใครมีเครื่องปริ้นแบบนี้ ก็จะตัดปัญหาเรื่องฐานไม่ได้ระนาบไปได้พอสมควร สามารถที่จะไปโฟกัสตรงจุดอื่นแทนได้ แต่ถ้าเครื่องรุ่นเก่า ก็อาจจะค้องทำใจ ไว้หน่อย เวลาพิมพ์เต็มฐาน โอกาสที่ชิ้นงานจะพิมพ์ติดด้านนึง ไม่ติด้านนึง จะมีสูงกว่า เครื่องที่มีเซนเซอร์วัดฐาน

ก่อนอื่นเลย ใครที่มีปัญหาเรื่องงานปริ้นหลุด จากฐาน ก็ให้ลองดูเรื่องการ Calibrate การตั้งฐานปริ้นก่อน ใจเย็นๆ ค่อยๆทำ เพราะถ้าตรงนี้เราทำดีแล้ว เวลามีปัญหาจะได้ไปโฟกัส ในส่วนอื่นแทน สำหรับการตั้งฐาน ผมมีข้อแนะนำว่า ให้เปิดความร้อนที่ฐานปริ้นไปด้วย ระหว่างที่ปรับฐาน ให้ใช้ความร้อนที่ใช้ประจำ เช่น ถ้าพิมพ์เส้นพลาสติก PLA ก็ให้เปิดความร้อนไว้ที่ 60 องศา แล้วทิ้งไว้ซัก 10-15 นาที เพื่อที่ให้ฐานมันแอ่นหรือโก่งเต็มที่ แล้วค่อยปรับระนาบฐาน การทำแบบนี้ สามารถไปใช้กับเครื่องที่มีเซนเซอร์วัดฐานได้ด้วยเช่นกัน และจะทำให้เครื่องมีความแม่นยำ มากขึ้นอีกด้วย

หลังจากที่ปรับฐานแล้ว ส่วนต่อไปที่ให้ดู คือเรื่องของความสะอาดของฐานปริ้น หลักง่ายๆ คือให้เช็คเรื่องความสะอาด และต้องแน่ใจ ว่าเคลีย์ฐานพิมพ์ ไม่ให้มีเศษพลาสติกติดอยุ่บนฐานก่อนปริ้นทุกครั้ง ถ้าเครื่องที่ใช้ฐานกระจก แล้วหนีบด้วยตัวหนีบกระดาษ ก็ให้เอาแผ่นกระจกถอดออกมาแล้วเช็ดด้วย แอลกฮอล์ล้างมือ ที่เป็นแบบน้ำ เพื่อที่จะเช็ดเอาคราบน้ำมันจากมือ ที่ไปเปรอะเลอะบนฐาน ซึ่งการใช้แอลกฮอล์เช็ด สามารถทำได้บนแผ่นฐานจำพวก Flex Plate ที่เคลือบฟิลม์ PEI ได้ด้วย หลังจากเช็ดทำความสะอาดแล้ว ก็ให้ตรวจเช็คแผ่นฐานทั้ง 2 ด้าน ว่าไม่มีเศษพลาสติกติดอยู่ ก็ให้วางแผ่นลงบนฐานให้ความร้อนได้เลย

ในความเป็นจริง พลาสติกบางชนิดอย่าง PLA นั้นไม่จำเป็นต้องทากาว หรือพ่นสเปรย์ลงบนฐานเลย แค่ใช้แอลกฮอล์เช็ดทำความสะอาดก็เพียงพอแล้ว แค่การทากาว ก็จะช่วยในเรื่องของกรณีที่เกิดไฟดับขึ้นมาระหว่างปริ้น จะช่วยป้องกันไม่ให้ชิ้นงานหลุดออก เวลาที่ฐานเย็น ที่เกิดตอนไฟดับ ซึ่งเวลาไฟมา ก็สามารถพิมพ์ต่อที่เดิมได้เลย ในกรณีที่เครื่องปริ้น มีฟีเจอร์ไฟดับพิมพ์ต่ออยู่

ก่อนปริ้นต้องรู้ก่อนว่าพลาสติกที่ใช้คือประเภทไหน

สำหรับบางคน ที่ได้เครื่องมา แล้วลองพิมพ์เส้นพลาสติกจำพวก ABS เลย โดยที่ไม่มีความรู้มาก่อน ก็จะเจอปัญหาปริ้นงานแล้วงานหลุด หรือไม่ก็มีบางส่วนยกลอยขึ้นจากฐาน ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถ้าคนที่ใช้ 3D printer มาก่อนก็จะเข้าใจ ดังนั้นก่อนที่จะปริ้นงาน ผู้ใช้ก็ควรที่จะต้องรู้ถึงคุณสมบัติและข้อควรรู้ ในการพิมพ์พลาสติกประเภทนั้นๆ เพื่อที่จะได้เตรียมการก่อน ซี่งพลาสติกแต่ละตัว ก็จะใช้ความร้อนที่แตกต่างกัน ถ้าใครยังไม่รู้ แนะนำให้อ่านบทความนี้ก่อนได้ ที่ Link นี้

ชิ้นงานหลุดหรือแอ่นออกจากฐาน ถึงแม้ว่างานปริ้นเสร็จ แต่ก็ใช้ไม่ได้ เพราะฐานแอ่น ไม่ได้ระนาบ

ฐานชั้นแรกพิมพ์ให้ช้าและปิดพัดลม 

งานปริ้นจะหลุดจากฐานหรือไม่หลุด ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ชั้นแรก หรือเลเยอร์แรก ซึ่งถ้าใครสังเกตุ จะรู้ว่าเลเยอร์แรกนั้นจะพิมพ์ช้ากว่าเลเยอร์อื่นๆ ซึ่งการพิมพ์ช้า จะช่วยให้หัวฉีดดันเส้นลงมาอัดกับฐานปริ้น เพื่อให้เส้นติดแน่น ไม่หลุดระหว่างพิมพ์ สำหรับความเร็วของเลเยอร์แรกที่แนะนำ ไม่ควรเกิน 30 มิลลิเมตร / วินาที มากไปกว่านั้น เลเยอร์แรก ไม่จำเป็นต้องเปิดพัดลมเป่างาน เพราะจะทำให้ความร้อนที่ฉีดออกมาไม่สม่ำเสมอ ทำให้เส้นเกาะกับฐานได้น้อย

อุ่นฐานปริ้นไว้ก่อนที่จะปริ้น

การอุ่นฐานพิมพ์รอไว้ จะเป็นการช่วยกระจายความร้อนให้กับแผ่นฐาน การที่รีบพิมพ์งานโดยที่ฐานยังร้อนไม่ทั่วแผ่น จะทำให้เกิดการดึงความร้อน และอาจทำให้ชิ้นงานหลุดระหว่างปริ้นได้ ดังนั้นการอุ่นฐานก่อนปริ้นจะช่วยทำให้ งานติดแน่นมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นพลาสติกวิศวกรรมจำพวก ABS / ASA / Nylon และ PC ที่ถือว่าเป็นเส้นพลาสติกที่ปริ้นยาก ชอบหลุดออกจากฐาน สำหรับการอุ่นฐาน แนะนำให้ปรับตามชนิดเส้น Filament ท่ีใช้ดังนี้

ประเภทพลาสติกความร้อนที่ใช้
พลาสติก PLA55 – 60 องศา
พลาสติก ABS100 – 105 องศา
พลาสติก ASA85 – 100 องศา
พลาสติก PETG50 – 80 องศา
พลาสติก TPU40 – 60 องศา
พลาสติก PA Nylon40 – 80 องศา (ขึ้นอยู่กับสูตรผู้ผลิต)
พลาสติก PC90 – 110 องศา (ขึ้นอยู่กับสูตรผู้ผลิต)

ตั้งระยะความสูงระหว่างหัวฉีดและฐานให้ดี 

สำหรับการตั้งความสูงของหัวฉีด อันนี้ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างนึงเลย ต่อให้เครื่องถูกปรับตั้งระนาบหรือ Calibrate มาแล้วดีแค่ไหน ถ้าตั้งระยะหัวฉีดกับฐานไม่พอดี ก็จะทำให้ชิ้นงานปริ้นหลุดออกจากฐานระหว่างพิมพ์ได้ ซึ่งการตั้งค่านี้ มีชื่อเรียกว่า Z-Offset บางเครื่องอาจจะเรียก Z-Height เป็นค่าระยะที่วัดจากหัวพิมพ์ถึงฐานพิมพ์ โดยที่ค่าที่เหมาะสมคือประมาณความหนาของกระดาษ A4 80 แกรม ซึ่งค่านี้จะต้องที่ปรับที่เครื่องปริ้น แต่ละเครื่องอาจจะมีวิธีการปรับไม่เหมือนกันให้ลองถามคนที่ขายเครื่องดู แต่ถ้าเป็นเครื่อง Creality ค่านี้จะเรียกว่า Z-offset ส่วนใหญ่จะมีค่าติดลบ ยิ่งติดลบมากเท่าไหร่ หัวพิมพ์จะยิ่งชิดฐาน ถ้าชิดมากไป หัวฉีดก็จะไปขูดฐานพิมพ์ ทำให้เส้นไม่ออก แล้วฐานปริ้นเป็นรอย แต่ถ้าค่านี้มากไป ก็จะทำให้หัวฉีดลอย เส้นฉีดออกมาได้ แต่จะไม่ติดฐาน

การตั้งหัวฉีดให้เหมาะสม จะช่วยลดปัญหางานปริ้นหลุดจากฐานได้ดีที่สุด

การตั้งค่านี้ ตอนแรก ให้ใช้กระดาษ A4 หาระยะความสูงก่อน โดยทำความสะอาดหัวฉีดและฐานพิมพ์ เสร็จแล้วให้เข้าโหมดปรับค่า Z-Offset เครื่องส่วนใหญ่จะทำการ Home ก่อน แล้วหัวฉีดจะมาจอดรอ และลอยอยู่ ให้ทำการหมุน พร้อมกับเอามือดึงกระดาษไปมา ให้รู้สึกว่า หัวฉีด ขูดติดกับกระดาษเล็กน้อย และยังดึงออกได้ จะถือว่าเป็นค่าที่เหมาะสมแล้ว หลังจากนั้น ให้ลองพิมพ์งานดู ซึ่งเครื่องส่วนใหญ่ตอนนี้ สามารถที่จะปรับค่านี้ ในระหว่างที่ปริ้นเลเยอร์แรกได้ เวลาปรับก็ค่อยๆ ปรับ และดูงานที่ปริ้นไปด้วย ว่าเส้นออกมาชิดกันสนิทพอดีหรือไม่ ถ้าเส้นพิมพ์ออกมาแล้วมีระยะที่ห่างกันแปลว่า หัวฉีดยังสูงไป ให้ปรับค่าไปทางลบมากขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าหัวฉีดชิดไป เส้นพลาสติกจะล้นทะลักออกมาด้านข้าง เป็นขุยๆ อันนี้แปลว่าหัวพิมพ์ชิดไป ให้ทำการปรับค่าไปทางบวก เพื่อให้หัวปริ้นลอยขึ้น

การหาค่า Z-Offset นั้น จะต้องทำกับพลาสติกในแต่ละประเภทด้วย เพราะพลาสติกแต่ละชนิดจะใช้ความร้อนฐานไม่เท่ากัน ยิ่งฐานร้อน แผ่นฐานก็จะบิดโก่ง ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ค่า Z-Offset ของการพิมพ์เส้น PLA อาจจะสูงกว่า ค่า Z-Offset ของการพิมพ์เส้น ABS เพราะความร้อนที่ฐานของ ABS ใช้มากถึง 100 องศา ซึ่งมากกว่า เส้น PLA ที่ใช้แค่ 60 ทำให้ฐานพิมพ์บิดรูปไม่เหมือนกัน ค่า Z-Offset ที่ได้ก็จะต่างกัน

ทำความสะอาดฐานก่อนปริ้นทุกครั้ง 

สำหรับข้อนี้ แนะนำให้ทำก่อนทุกครั้ง และควรทำให้เป็นนิสัย การทำความสะอาดฐาน จะช่วยลดคราบน้ำมันหรือคราบสกปรกที่ติดบนฐาน และช่วยให้ชิ้นงานติดแน่นขึ้นอีกด้วย ส่วนการทำความสะอาด ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของฐานปริ้นที่ใช้ เครื่อง 3D Printer บางรุ่น อาจจะยังใช้ฐานปริ้นแบบกระจกอยู่ ซึ่งการทำความสะอาดนั้น ก็ทำได้หลายวิธี อาจจะเอาไปล้างน้ำยาล้างจาน หรือเอาไปเช็ดด้วแอลกฮอล์ก็ได้ หรือบางคนอาจจะใช้อะซิโตนในการทำความสะอาดกระจก ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน

การทำความสะอาดฐานปริ้น โดยใช้แอลกฮอล์เช็ดที่ฐาน จะช่วยกำจัดคราบน้ำมัน ช่วยให้งานติดฐาน

เครื่องพิมพ์ 3D Printer รุ่นใหม่ๆ ตอนนี้จะมาพร้อมกับฐานปริ้นแบบ Flex Plate ที่เคลือบ PEI หรือ PC ลงไป ซึ่งสารที่เคลือบเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มการยึดเกาะให้กับพลาสติก สำหรับการทำความสะอาดแผ่นเหล่านี้ก็ต้องดูด้วยว่า สามารถใช้สารเคมีตัวไหนได้บ้าง ส่วนใหญ่สามารถเข็ดได้ด้วยแอลกฮอล์ แต่แผ่นบางแผ่น ที่ใช้การผลิตแบบพ่นเป็น PEI อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการทำความสะอาดด้วยอะซิโตน เพราะจะทำให้ตัวเคลือบหลุดและร่อนออกมาได้ ดังนั้นแนะนำให้ถามคนที่ขายเครื่องว่า แผ่นฐานที่มากับเครื่องสามารถทำความสะอาดได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

ใช้ฐานปริ้นให้ถูกประเภทกับพลาสติกที่ใช้ 

ฐานปริ้นแบบกระจก เป็นฐานปริ้นท่ีนิยมใช้กันสมัยแรกเร่ิม เพราะกระจกมีความเรียบและไม่โก่ง เวลาโดนความร้อนสูง ทำให้การตั้งฐานปริ้นทำได้ง่าย แต่ข้อเสียของฐานกระจก ก็คือใช้กับเส้นพลาสติกได้แค่บางประเภทเช่น PLA / PETG และ ไนลอน หรือ PA ซึ่งถ้าเครื่องที่มีฐานปริ้นแบบกระจก ก็สามารถใช้กาวแท่ง ทาที่ฐานได้ หรือจะพ่นสเปรย์ฉีดผม ไปเคลือบที่ฐานก็ได้ เพื่อช่วยให้เส้นยึดติดกับกระจกได้แน่นขึ้น สำหรับเส้นอื่นๆ จำพวก ABS / ASA / PC / PP ถ้าอยากจะพิมพ์บนฐานกระจก ก็อาจจะต้องไปใช้ตัวช่วย พวกกาวพิเศษที่ทำมาเฉพาะใช้กับเครื่องปริ้น 3 มิติ ซึ่งยี่ห้อที่นิยมในตลาดก็คือ Magigoo ซึ่งตัวกาว Magigoo เป็นสินค้าจากยุโรป เชี่ยวชาญเรื่อง กาวสำหรับทาฐานปริ้น ตัวกาวของ Magigoo จะเป็นกาวน้ำ ใช้งานง่าย ไม่เลอะเทอะ สามารถล้างทำความสะอาดได้ด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำอุ่น

ฐานปริ้นกระจก พบเห็นได้จากเครื่องปริ้น 3 มิติ รุ่นเก่าๆ ข้อดีคือ ความเรียบ ที่ช่วยให้พลาสติกติดได้ทั้งพื้นที่ ข้อเสียคือใช้ได้กับเส้นบางชนิด

ตัวกาวของ Magigoo ก็มีให้เลือกกันหลายแบบ ตามชนิดของเส้นพลาสติกที่ใช้ วิธีใช้ ก็แค่ ทำความสะอาาดฐานปริ้น ก่อน สามารถใช้ได้ทั้งฐานปริ้นกระจก และฐานปริ้นที่ติดหรือเคลือบฟิลม์ PEI / PC ซึ่งการทา ให้ทาตอนที่ฐานปริ้นยังเย็นอยู่ หรืออยู่ในอุณหภูมิห้อง หลังจากนั้นปล่อยทิ้งไว้ ซัก 2-3 นาที ก็สามารถปริ้นงานได้ ข้อดีของกาว Magigoo ก็คือ ไม่เลอะเทอะ เพมือนกับการทาง UHU แท่ง และไม่มีกลิ่น เหมือนการพ่นสเปรย์ฉีดผม

Magigoo กาวน้ำสำหรับใช้กับ 3D Printer โดยเฉพาะ มีให้เลือกหลายสูตร ตามประเภทพลาสติกที่ใช้พิมพ์

สำหรับฐานปริ้นที่ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมาแทนฐานปริ้นแบบกระจก ก็ตือฐานปริ้นที่ติดฟิลม์ หรือเคลือบ PEI ซึ่งฐานปริ้นประเภทนี้ มีความพิเศษ คือ สามารถติดบนกระจก หรือจะไปติดบนแผ่นเหล็กบางๆ ก็ได้ ซึ่งถ้าติดบนแผ่นเหล็กบางๆ เวลาปริ้นงานเสร็จก็สามารถที่จะบิดและงอแผ่น เพื่อให้งานหลุดออกมาได้ ซึ่งแผ่นเหล็กพวกนี้ สามารถพบเจอได้กับเครื่องปริ้น 3 มิติรุ่นใหม่ๆ

สำหรับการใช้ฐานปริ้นที่ติด PEI สามารถใช้ได้กับเส้นพลาสติกเกือบทุกชนิด แต่ข้อสำคัญก็คือเรื่องของความสะอาด ซึ่งการที่แผ่น PEI สามารถที่จะยึดงานปริ้นให้อยู่กับที่ได้นั้น เกิดจาก ตัวฟิลม์ PEI เมื่อโดนความร้อน จะเกิดแรงดูดเล็กๆ กระจายไปทั่วแผ่น ทำให้ชิ้นงานติดเวลาปริ้น และเมื่อปริ้นเสร็จ ฐานเริ่มเย็นลง แรงดูดพวกนี้ ก็จะหายไป ทำให้ชิ้นงานหลุดออกมาเอง แต่ความสามารถนี้จะลดลง เมื่อแผ่นเริ่มสกปรก ซึ่งความสกปรก มักจะเกิดจาก มือของผู้ใช้ ที่มีน้ำมัน ดังนั้นการทำความสะอาดแผ่น PEI จึงเป็นเรื่องจำเป็น โดยวิธีการทำความสะอาด สามารถทำได้โดยใช้ แอลกฮอล์ล้างแผล เช็ดไปบนฐานให้ทั่ว เพื่อกำจัดคราบน้ำมัน และสิ่งสกปรก

ในตอนนี้ฐานปริ้นที่ใช้ PEI นั้น มีให้เลือกหลากหลายแบบ ทั้งแบบเรียบ ที่ติดฟิลม์ลงบนแผ่นเหล็ก กับแบบที่พ่นผง PEI ลงไปเคลือบ ซึ่งแต่ละแบบ จะเหมาะกับพลาสติกที่ต่างชนิด อย่างที่บอกไปว่า ฐานปริ้น PEI นั้น สามารถยึดติดกับพลาสติกได้ดี แต่บางครั้ง มันก็ยึด ติดแน่นเกินไป จนไม่สามารถเอางานออกได้ ดังนั้น ผู้ผลิตเลยคิดค้นและหาวิธีปรับปรุง PEI ให้สามารถเอางานออกได้ เหตุผลนี้ ทำให้เกิดแผ่น PEI แบบหยาบ ที่ใช้ผง PEI พ่นเคลือบไปลงบนแผ่นเหล็ก ซึ่งแผ่น PEI ที่มีผิวหยาบ ก็จะเหมาะกับการปริ้นพลาสติกจำพวก PETG / TPU เพราะถ้าเอาเส้นพลาสติกจำพวกนี้ไปปริ้นบนแผ่น PEI แบบเรียบ ตัวงานจะติดแน่นจนเอาไม่ออก ซึ่งถ้าไปฝืนเอาออก ก็จะทำให้ฟิลม์ PEI ที่ติดอยู่ ลอกและขาดได้

สภาพของฐานปริ้น PEI แบบเรียบ ที่ไม่ได้ทากาว แล้วไปพิมพ์เส้น PETG ตัวงานติดแน่น ฝังเข้าไปในเนื้อ เอาออกไม่ได้

แต่ถ้าเครื่องปริ้น 3 มิติ ที่ไม่มีฐานปริ้น PEI แบบหยาบ มีแต่แบบเรียบอย่างเดียว และต้องปริ้น PETG หรือ TPU แนะนำให้ทากาว UHU แท่งหรือกาว Magigoo ลงบนฐานปริ้น ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติก ติดกับฟิลม์ PEI มากเกินไป

เปิดใช้ฟังค์ชั่น Brim เพื่อเพิ่มการยึดติด 

สำหรับวิธีนี้ จะเป็นการแก้ปัญหา จากโปรแกรม Slicer ซึ่งทุกโปรแกรมจะมีให้เลือกใช้อยู่ ซึ่งการเปิดใช้ฟังค์ชั่นนี้ จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวของชิ้นงานในเลเยอร์แรก ให้มีขนาดที่กว้างขึ้น ซึ่งการที่มีพื้นที่ผิวที่ใหญ่ขึ้นจะทำให้ ชิ้นงานยึดติดกับฐานแน่นขึ้น สำหรับการสร้าง Brim นั้น มักจะใช้กับงานที่มีพื้นที่ผิวด้านล่าง ขนาดเล็กๆ เข่น ขาโต๊ะหรือขาเก้าอี้ แต่ก็สามารถนำไปใช้กับงานที่มีพื้นที่ผิวด้านล่าง ที่มีขนาดใหญ่ได้เช่นกัน ถ้างานชิ้นนั้น ใช้พลาสติกวิศวกรรมที่หดตัวจำพวก ABS / ASA / Nylon / PP และ PC ก็จำเป็นที่จะต้องเปิดฟีเจอร์ Brim เข้าช่วย สำหรับค่า Brim ที่แนะนำก็ควรอยู่ระหว่าง 10-30 มากไปกว่านั้นไม่มีความจำเป็นซักเท่าไหร่

เพิ่มความหนาเส้นให้กับเส้นพลาสติกในเลเยอร์แรก

การที่งานจะคิดหรือหลุดจากฐาน สามารถดูได้จากเลเยอร์แรก ซึ่งถ้าสังเกตุเวลาปริ้นงาน เลเยอร์จะใช้เวลาพิมพ์นานสุด หัวพิมพ์จะเดินช้า ดังนั้นการที่จะทำให้ให้ชิ้นงานคิดแน่น ก็สามาถปรับแต่งค่าในเลเยอร์แรกได้ ซึ่งค่าแรกที่ปรับแต่งได้ จะเรียนกว่า Initial Layer Thickness หรือ บางโปรแกรมเรียกว่า Horizontal Expansion ซึ่งค่าตัวนี้ เป็นตัวกำหนดความหนาของเส้นที่ฉีดออกมา ซึ่งเส้นที่ฉีดออกมามีความหนามากเท่าไหร่ ก็จะมีเนื้อพลาสติกยึดติดกับฐานได้มากเท่านั้น แต่การตั้งค่านี้ ถ้าตั้งไม่เหมาะสมแล้ว จะเกิดปัญหาที่เรียกว่า Elephat foot ซึ่งสามารถสังเกตุได้จากงาน โดยฐานของงานที่ปริ้น จะมีขนาดใหญ่กว่า ด้านบน ซึ่งเกิดจาก เส้นที่ฉีดออกมาในชึ้นแรก มีปริมาณที่มากเกินไป

การตั้งค่าความสูงในการพิมพ์เลเยอร์แรก 

นอกจากที่จะตั้งความหนาของเส้นพลาสติกในชั้นแรกได้แล้ว ตัวโปรแกรม Slicer ก็ยังมีค่าสำหรับการตั้งระยะความสูงของหัวฉีดและฐานปริ้นได้อีกด้วย ซึ่งเรียนกว่า Initial Layer Height ซึ่งก่อนที่จะปรับค่านี้ ต้องมั่นใจว่า ระยะระหว่างหัวฉีดกับฐาน ที่ตั้งผ่านเครื่องนั้นทำได้ดีแล้ว ถึงจะมาปรับค่านี้ ซึ่งค่านี้ ยิ่งตัวเลขยิ่งน้อย หัวฉีดจะยิ่งชิดฐานปริ้น ในทางกลับกัน ถ้าตัวเลขยิ่งมาก หัวฉีดก็จะยิ่งห่างจากฐานปริ้น ซึ่งค่าที่แนะนำจะต้องไม่เกิน 75% ของขนาดรูหัวฉีด เช่นเครื่องปริ้น ใช้หัวฉีดขนาดรู 0.4 มิล ดังนั้นค่า Initial Layer Height ก็ไม่ควรเกิน 0.3 มิล ช้อควรระวังของการปรับค่านี้ ก็คือ ต้องปรับทีละน้อย และลองไปเรื่อยๆ เพราะถ้าค่ายิ่งน้อย หัวฉีดอาจจะไปขูด และทำลายฐานปริ้นได้

Updated on 13/07/2023

Was this article helpful?

Related Articles