หัวฉีดหรือหัวพิมพ์เป็นส่วนสำคัญสำหรับเครื่องพิมพ์ 3D Printer ซึ่งหัวตันนั้นเป็นของคู่กันกับ 3D Printer สาเหตุของหัวตันอาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เส้นที่ใช้ไม่ได้คุณภาพมีสิ่งแปลกปลอมในเส้น ซึ่งถ้าสิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่กว่ารูหัวฉีด ก็จะไปอุดรูหัวฉีดได้ นอกจากสิ่งสกปรกแล้ว ยังมีเรื่องของพัดลมที่เป่าซิงค์ของชุดหัวฉีด ถ้าพัดลมตัวนี้เสีย หรือเป่าไม่แรง ก็จะทำให้หัวฉีดตันได้เหมือนกัน อาการนี้เรียกว่า Heat Creep ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องหัวตันอาจแก้ได้ดังนี้
เทสด้วยการเอามือดันเพื่อเช็คว่าหัวฉีดตันหรือเปล่า
อันนี้ถือว่าเป็นวิธีการเช็คเบื้องต้นเลยว่าหัวพิมพ์ตันหรือไม่ ถ้าใช้มือช่วนดันเส้นแล้ว เส้นยังไม่ออกแปลว่าหัวตันแน่นอน สังเกตุง่ายๆ ว่าถ้าเราดันเส้นจนเส้นมันงอ แต่ยังไม่มีพลาสติกไหลออกจากหัว ให้สันนิษฐานไว้เลยว่าหัวฉีดตันหรือต้องมีอะไรผิดปกติ เพราะเครื่องที่ปกติ เวลาใช้มือด้นเส้น มันจะมีแรงต้านไม่เยอะ ดันนิดเดียว พลาสติกก็ไหลออกจากหัวแล้ว แต่ถ้าดันแล้ว ออกบ้างไม่ออกบ้าง อาจจะต้องลองเปลี่ยนเส้นดู
ลองเปลี่ยนไปใช้เส้นพลาสติกอื่นดู
เส้นพลาสติกหรือ Filament เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ของเครื่องปริ้น 3 มิติระบบ FDM หรือฉีดพลาสติก เพราะถ้าเส้นไม่ดี หรือไม่มีคุณภาพ จะทำให้หัวฉีดตันได้ ซึ่งปัญหาที่เจอ คือขนาดเส้นที่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่เส้นก็สกปรก มีฝุ่นติดอยู่ที่เส้น
การที่เส้นมีขนาดไม่เท่ากัน ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง จะทำให้การดันเส้น ติดๆขัดๆ บางครั้งก็ทำให้หัวฉีดตันได้ รวมไปถึงการที่มีฝุ่นเกาะที่เส้น ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หัวฉีดตัน เพราะฝุ่นที่เกาะเส้นเป็นของแข็ง และไม่ละลาย ทำให้มันไปสะสมและกองอยู่ที่ปลายหัวฉีด ทำให้รูหัวฉีดเล็กๆไปเรื่อย จนฉีดไม่ออก ซึ่งวิธีการป้องกัน คือ เก็บเส้นเวลาที่ไม่ได้ใช้นานๆ โดยการใส่ถุงซิป และใส่ Silica Gel เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นชื้น

สำหรับใครที่ตั้งเครื่องไว้ในที่ฝุ่นเยอะๆ แนะนำให้พิมพ์โมเดลชิ้นนี้ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยกำจัดฝุ่นบนเส้น สามารถเข้าไป Download ไฟล์ได้ที่ Link นี้
ทำความสะอาดรูหัวฉีด
หัวฉีดตันหรือเส้นไม่ออก อาจจะเกิดจากการที่มีสิ่งสกปรก ติดอยู่ที่รูหัวฉีด ทำให้รูมีขนาดเล็กลง ซึ่งจะทำให้เส้นไหลออกมาไม่สะดวก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากฝุ่นที่มาเกาะเส้น รวมไปถึงการเปลี่ยนเส้นไปมาบ่อยๆ เพราะเส้นแต่ละชนิด ใช้ความร้อนที่ต่างกัน ถ้าเปลี่ยนเส้นจากความร้อนสูง ไปใช้เส้นความร้อนต่ำ ตรงปลายหัวฉีด จะมีเส้นค้างอยู่ ซึ่งจะไม่ละลาย ทำให้เวลาฉีดเส้นความร้อนที่ตำ่กว่า ก็จะทำให้ฉีดออกมาไม่สะดวก

ดังนั้น การทะลวงหัวฉีดหรือทำความสะอาดหัวฉีด ก็จะช่วยลดการเกิดหัวฉีดตันได้ ซึ่งแนะนำว่า ถ้าเปลี่ยนเส้นไปมาบ่อยๆ ก็ให้ทำความสะอาดทุกครั้ง สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทะลวงหัวฉีด แนะนำให้ใช้ลวดสแตนเลส ซึ่งอาจจะเป็นสายกีตาร์เบอร์ 2 หรือจะใช้เข็มที่ใช้ในวงการฝังเข็มของจีนก็ได้ ซึ่งการทะลวงหัวฉีด ให้ทำตอนที่หัวฉีดร้อน โดยเอาเส้นออก แล้วเปิดความร้อนประมาณ 250 – 270 องศา แล้วเอาเข็มแหย่ไปที่ปลายหัวฉีด แล้วแหย่ขึ้นและลง หลายๆ รอบ ให้ทำแบบนี้ไปซัก 4-5 รอบ แล้วลองโหลดเส้นดูใหม่ ถ้าเส้นไหลออกมาเป็นเส้นตรง แปลว่า หัวฉีดสะอาดแล้ว แค่ถ้ายังไหลออกมาแล้วบิดออกจากรู ให้ลองทำความสะอาดใหม่อีกที
ทำความสะอาดและตรวจเช็ตชุดดันเส้นที่เป็นเฟืองเกียร์
สำหรับชุดดันเส้นก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจจะทำให้หัวฉีดดัน หรือเส้นฉีดออกมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งปัญหาที่เจอบ่อยก็คือ มีเศษพลาสติกไปอัดเต็มอยู่ระหว่างร่องฟัน ทำให้เวลาดันเส้นพลาสติก ตัวเส้นไม่ยอมวิ่งไป เพราะไม่มีฟันมาจิกลงไปที่เส้น ทำให้เกิดอาการ Slip หรือลื่น ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานๆ หัวฉีดจะตันได้ เพราะพลาสติกที่อยู่ตรงปลายสุดของหัวจะโดนความร้อนอยู่นาน แล้วเปลี่ยนสถาพ ถ้าเป็นเส้น ABS ก็จะกลายสภาพเป็นเขม่าก้อนดำ ทำให้รูหัวฉีดมีขนาดเล็กลง ถ้าเป็น PLA ก็จะร้อนจนเหนียว ทำให้ฉีดยากขึ้น ซึ่งอาการที่มีเศษพลาสติกอัดไปที่ร่องฟันเฟือง อาจเกิดได้หลายสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากอาการ Heat Creep ที่มาจากตัวพัดลมเป่าซิงค์หรือไม่ก็การประกอบหัวฉีดไม่ถูก

สำหรับการทำความสะอาดเฟืองก็ใช้แปรงขัดไปตามร่องฟันเฟือง ซึ่งตอนทำให้ปิดเครื่อง เพื่อที่จะได้หมุนเฟืองได้ง่ายและสามารถทำความสะอาดได้โดยรอบ นอกจากการทำความสะอาดแล้ว ลองมั่นเฟืองที่ขบเส้นด้วย เพราะบางครั้ง เฟืองอาจจะสึกและฟันที่ขบเส้นอาจจะตื้นขึ้น ทำให้ไม่สามารถจิกและดันเส้นลงมาได้ แต่ถ้าเฟืองไม่สึก ก็ให้ลองดูตำแหน่งของเฟือง เพราะในเครื่องบางรุ่น ตัวเฟืองอาจจะขยับขึ้นหรือลง จนพ้นแนวที่จิกเส้น ทำให้ไม่สามารถดันเส้นลงไปได้
ทำความสะอาดหัวฉีดด้วยวิธี Cold Pull
ทำความสะอาดด้วยวิธีการ Atomic Cold Pull ซึ่งจะใช้เส้นไนลอนในการดึงเอาสิ่งสกปรกที่อยู่ในชุดหัวฉีดออกมา วิธีการทำ คือให้หาเส้นไนลอน ที่มีขนาดใกล้เคียงกับเส้นพลาสติกที่ใช้ฉีด เปิดอุณหภูมิหัวฉีดประมาณ 250-260 องศา พอถีงแล้วก็เอาเส้นไนลอนแหย่ลงไป แล้วกดจนกว่าจะมีเส้นไหลออกมาทางหัวฉีด พอเส้นไนลอนออกมาจากหัวฉีดแล้ว ก็ให้ลดอุณหภูมิลงไปที่ 90 องศา ตอนที่อุณหภูมิหัวฉีดกำลังลด ก็ให้เอามือดันเส้นไนลอนลงไปด้วย ดันจนว่าจะดันไม่ออก ห้ามปล่อยมือเด็ดขาด พออุณหภูมิหัวฉีดลงมาถึง 90 องศา ก็ให้ดึงเส้นไนลอนออกมา ให้สังเกตุที่ปลายของเส้นไนลอน จะมีเศษพลาสติกที่ค้างอยู่ในหัวฉีดออกมาด้วย ให้ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่า ปลายเส้นไนลอนจะไม่มีเศษอะไรติดออกมา

ถ้าไม่สามารถหาเส้นไนลอนได้ ให้ใช้เอ็นตัดหญ้าแทนได้ โดยสามารถซื้อได้ง่ายสุด ที่ Homepro ให้เลือกเส้นที่เป็นเส้นกลม และมีขนาดประมาณ 1.6 มิลลิเมตรแทนได้ ข้อควรระวังของการล้างด้วยวิธี Cold Pull ก็คือ ไม่เอามือจับเส้นแล้วดึงด้วยมือเปล่า ควรจะใส่ถุงมือ หรือใช้คีมดึง เพราะถ้าดึงด้วยมือเปล่า อาจจะบาดมือได้
เช็คดูท่อด้านในหัวฉีด
สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติบางรุ่น จะให้หัวฉีดที่มีท่อเทฟลอน อยู่ด้านใน ซึ่งหัวฉีดประเภทนี้ ทำมาเพื่อพิมพ์เส้น PLA โดยเฉพาะ ถ้าใช้ไปนานๆ ก็จะเกิดการเสื่อมสภาพ มากไปกว่านั้น บางครั้ง ผู้ใช้อาจมีการสลับไปใช้เส้นพลาสติกอื่นๆ อย่าง ABS หรือ PETG ซึ่งเป็นเส้นที่ต้องใช้ความร้อนสูงกว่าเส้น PLA ทำให้ท่อเทฟลอนที่อยู่ด้านใน เกิดการเสื่อมสภาพได้เหมือนกัน

อาการท่อเทฟลอน เสื่อมสภาพ สามารถสังเกตุได้จากรูด้านในท่อ จะมีขนาดเล็กลงและด้านนอกจะมีคราบสีดำ ทำให้เส้นไม่สามารถผ่านได้สะดวก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หัวฉีดตัน ถ้าเป็นแบบนี้ ก็ให้ทำการเปลี่ยนท่อ เป็นท่อใหม่ หรือถ้าใครใช้หัวฉีดที่เป็นระบบ Bowden ก็อาจจะตัดปลายท่อที่ดำออกแล้วเสียบเข้าไปใหม่ก็ได้ สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าเครื่องที่ใช้เป็นระบบ Bowden หรือ Direct ลองเข้าไปอ่านบทความได้ที่ Link นี้
สำหรับการตัดท่อเทฟลอน ไม่ควรใช้คีมตัด เพราะจะทำให้ปลายท่อบี้ และไม่กลม ให้ใช้คัดเตอร์ในการตัดท่อแทน
เช็คพัดลมที่เป่าซิงค์ระบายความร้อนหัวฉีด
เครื่องพิมพ์ 3D Printer ที่เป็นระบบฉีดพลาสติก หรือ FDM ตรงหัวฉีดจะต้องมีพัดลมอย่างน้อย 2 ตัว ซึ่งตัวแรกจะมีหน้าที่ เป่าชิ้นงานให้เย็น ส่วนตัวที่สองจะมีหน้าที่เป่าซิงค์ระบายความร้อนของชุดหัวฉีด ซึ่งพัดลมตรงตำแหน่งนี้ เป็นตัวสำคัญอย่างมาก ถ้าพัดลมตัวนี้เสีย ไม่ทำงาน หรือเป่าเบาลง ก็ทำให้หัวฉีดตันได้
สำหรับการสังเกตุง่ายๆ ว่าหัวฉีดตันที่เกิดจากการที่พัดลมเป่าซิงค์เริ่มเสียหรือทำงานเบาลง สามารถดูได้ที่เวลาพิมพ์ อาการก็คือ ตอนเริ่มพิมพ์เส้นจะออกมาปกติ พอพิมพ์ไปสักพัก เส้นจะเริ่มออกบ้าง ไม่ออกบ้าง หรือฉีดออกแบบติดๆขัด ถ้าเกิดอาการนี้ ให้สันนิษฐานได้ว่า เป็นอาการ Heat Creep ซึ่งอาจจะเกิดจากพัดลมเป่าซิงค์ไม่ทำงาน แต่ถ้าดูแล้ว พัดลมทำงานปกติ ก็ให้ลองสังเกตุดูว่า มีเศษใยพลาสติกเข้าไปพันที่แกนพัดลมหรือไม่ เพราะการที่มีใยพลาสติกเข้าไปพัน ก็จะทำให้พัดลมเป่าเบาลง ตัวซิงค์ก็จะระบายความไม่ดี และลามไปถึงการฉีดพลาสติก

มากไปกว่านั้น ที่เคยเจอคือ พัดลมเป่าปกติ ไม่มีใยพลาสติก แต่ใบพัดแตก หรือหัก ก็ทำให้พัดลมเป่า เบาลงเช่นกัน ถ้าเกิดเจอแบบนี้ก็ให้เปลี่ยนพัดลมเป็นตัวใหม่ ซึ่งตอนเปลี่ยน ก็ให้จำด้านพัดลมที่ใส่ด้วย ว่าเป่าเข้าหรือดูดออก เพราะถ้าใส่ผิด ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาหัวฉีดตันได้อีก
สำหรับอาการ Heat Creep นั้น นอกจากเกิดจากพัดลมเป่าซิงค์ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว อาจเกิดจากการถอดหรือเปลี่ยนหัวฉีด แล้วใส่กลับเข้าไปถูก หรือไม่แน่น ก็ทำให้เกิดอาการนี้ได้
การประกอบหัวฉีดไม่ถูกวิธี
สำหรับบางคนอาจจะเคยเจอว่า พอเปลี่ยนหัวฉีดหรือ มีการถอดหัวฉีดออกมาทำความสะอาดแล้วประกอบเข้าไปใหม่ แล้วมีอาการหัวฉีดตัน เส้นออกบ้าง ไม่ออกบ้าง ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ให้สันนิษฐานไว้เลยว่า ประกอบหัวฉีดไม่ถูก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ฉีดไม่ออก เป็นเพราะว่าตอนใส่กลับเข้าไป ด้านในหัวฉีดมีช่องว่างระหว่างหัวฉีดและท่อ Heat Break ซึ่งช่องว่างตรงนี้ ที่เป็นปัญหา ทำให้เส้นฉีดไม่ออก

การที่เส้นฉีดไม่ออก เพราะมีช่องว่าง เป็นมาจาก พลาสติกที่ละลายถูกอัดเต็มไปในช่องว่าง ซึ่งตัวพลาสติกที่อยู่ในช่องว่าง จะทำตัวเหมือนก้อนเหนียวๆ ที่ต้านไม่ให้พลาสติกออกมา ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ต้องถอดออกมา แล้วประกอบใหม่ ซึ่งการประกอบนั้น ให้สังเกตุง่ายๆ ว่าหัวฉีดที่ขันไปแล้วตอนร้อน จะต้องมีช่องว่างอยู่นิดนึง และจะต้องไม่ชิดกับบล็อคอลูมิเนียมที่ให้ความร้อน การที่มีช่องว่าง จะทำให้แน่ใจว่า ตัวหัวฉีดกับท่อ Heat Break นั้นโดนขันจนประกบกันแน่น ซึ่งถ้าไม่มีช่องว่าง เราจะไม่รู้ว่าที่หัวฉีดมันแน่น เป็นเพราะหัวฉีดมันโดนขันจนสุดบล็อคที่ให้ความร้อน หรือว่ามันชนกับท่อ Heat Break

สำหรับใครที่ถอดหัวฉีดออกมาประกอบใหม่ เพราะเจออาการฉีดไม่ออก เนื่องจากพลาสติกรั่วออกมา ก็ให้เช็คด้วยว่า มีเศษพลาสติก ติดที่เกลียวด้านในบล็อคให้ความร้อนหรือไม่ ถ้ามีก็ให้จัดการทำความสะอาด ก่อนที่จะประกอบใหม่
เปลี่ยนหัวฉีด
สำหรับข้อสุดท้ายที่จะแนะนำก็คือ การเปลี่ยนหัวฉีด หลายๆคนใช้เครื่องมาหลายปี แต่ไม่เคยเปลี่ยนหัวฉีดเลย แต่รู้ใหม่ว่า การเปลี่ยนหัวฉีด สามารถช่วยแก้ปัญหาได้หลายๆ อย่าง แถมงานพิมพ์ยังออกมาสวยกว่าเดิมด้วย ที่เป็นแบบนี้เพราะว่า การใช้เครื่องไปนาน รูหัวฉีดอาจจะเปลี่ยนจากรูปวงกลม กลายเป็นวงรี หรือรูอาจจะขยายขึ้น สิ่งเหล่านี้มีผลต่องานที่ปริ้นออกมา ดังนั้นการเปลี่ยนหัวฉีด ก็จะช่วยให้งานพิมพ์กลับมาสวยเหมือนเดิม

แต่ถ้าใครไม่อยากเปลี่ยนหัวฉีดบ่อยๆ ก็อาจจะไปหัวฉีดแบบพิเศษ ที่เป็นเหล็กชุบแข็ง แล้วผ่านการเคลือบสารกันติด ซึ่งหัวฉีดเหล่านี้ จะมีความทนทานมาก บางยี่ห้อ เคลมตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งราคาของหัวฉีดจำพวกนี้ อาจจะสูง แต่ก็คุ้มค่าในระยะยาว