fbpx

Docly

หัวพิมพ์ไม่ยอมฉีดพลาสติกออกมาในตอนเริ่มพิมพ์งาน

Estimated reading: 1 minute

สำหรับปัญหานี้ส่วนใหญ่จะพบใน 3D Printer เกือบทุกรุ่นและทุกยี่ฮ้อ ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยๆ นั้นมาจาก

  1. ไม่มีการฉีดเส้นทิ้งก่อนเริ่มพิมพ์งาน ซึ่งในส่วนนี้ผมแนะนำให้ใช้ หรือเปิดการทำงานของฟังค์ชั่นนี้ทุกครั้ง เราเรียกการทำงานนี้ว่า Skirt บางโปรแกรมเรียกว่า Prime ซึ่งเป็นการฉีดพลาสติกออกมาก่อน ที่จะเริ่มพิมพ์งาน ส่วนใหญ่แล้วการฉีดแบบนี้ จะตีเป็นขอบเขต ของงานที่พิมพ์ ซึ่งผู้ใช้สามารถที่จะกำหนดรอบในการฉีด ผมแนะนำว่าประมาณ 2 รอบก็พอแล้ว บางโปรแกรม สามารถกำหนดได้เลยว่า จะให้ฉีดพลาสติกที้งออกมากี่มิล ก็ทำได้เช่นกัน เพราะว่าการฉีดเป็นรอบนั้น บางครั้งอาจไม่พอ เพราะว่า งานที่พิมพ์อาจมีขนาดเล็ก ทำให้หัวฉีดเข้าไปพิมพ์งาน ก่อนที่เส้นพลาสติกจะออกมาเต็ม
  2. ปัญหาต่อไปที่หัวพิมพ์ ไม่ยอมฉีดเส้นพลาสติกออกมาก็คือ หัวพิมพ์ชิดกับฐานพิมพ์เกินไป ทำให้เส้นออกมาได้ไม่สะดวก หรือไม่ก็ไม่ออกเลย ซึ่งปัญหานี้ สามารถแก้ได้โดยใส่ค่า Z-offset ลงไป สำหรับโปรแกรม Cura นั้นให้กำหนดค่านี้ในแถบของ Advance หัวข้อ Initial layer thickness  ซึ่งผู้ใช้ต้องทำการทดลอง พิมพ์แล้วดู เลเยอร์แรก ว่าหัวพิมพ์นั้นชิดเกินไปหรือไม่ ถ้าชิดเกิน ก็ให้ไปเพิ่มค่าในส่วนนี้ หรือ Z-offset โดยแนะนำให้เพิ่มขึ้นที่ละ 0.05 มิล ในทางกลับกัน ถ้าหัวฉีดลอยเกิน เมื่อพิมพ์เลเยอร์แรก เส้นออกมา แต่ไม่ยอมติดกับฐาน ผู้ใช้ก็สามารถลดค่านี้ลง เพื่อเป็นการปรับหัวฉีดให้พิมพ์งานชิดขึ้น
  3. อีกปัญหาที่เกิดขึ้นได้ อาจจะมาจากเส้นพลาสติกถูกกินจากเฟืองหรือตัวดันเส้น หลายคนอาจเคยเจอว่า ตัวดันเส้นนั้นทำงานปกติ หัวพิมพ์ก็ร้อนดี แต่ทำไมเส้นพลาสติกไม่ยอมฉีดออกมา ซึ่งปัญหานี้ เกิดจากที่เฟืองหรือตัวดันเส้นนั้น ขูดกับเส้นพลาสติก จนทำให้ขนาดของเส้นลดลง เมื่อเส้นเล็กลง ตัวดันเส้นก็จะกดไม่ถึงเส้น ทำให้เส้นไม่ออก ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดมาจาก การ Retraction ที่มีบ่อยเกินไป ทำให้เส้นถูกดันขึ้น ดันลงในจุดเดิม ทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า เส้นช้ำ ตัวเส้นก็จะเล็กลง ทำให้ดันเส้นไม่ออก แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าเส้นถูกขูดมากเกินไป อันนี้ก็ลองสังเกตุดู ที่ชุดดันเส้นว่ามี เศษพลาสติกถูกขูดออกมากองอยู่ที่ชุดดันเส้นหรือไม่ ถ้ามีแปลว่า สปริงกดเส้นแน่นเกิน หรือไม่ก็ พลาสติกที่ถูกขูดออกมา เข้าไปอัดอยู่ระหว่าร่องของตัวขับเส้น ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ก็ให้ทำการถอดชุดดันเส้นออกมา ทำความสะอาด โดยใช้แปรงขัด หรือไม่ก็ใช้ลมเป่า
  4. หัวพิมพ์ตัน ปัญหานี้อาจเกิดมาได้หลายสาเหตุเช่น พลาสติกที่ใช้พิมพ์ไม่ได้คุณภาพ มีสิ่งแปลกปลอมผสมในเส้น ซึ่งสิ่งแปลกปลอม ถ้ามีขนาดใหญ่กว่ารูหัวฉีด มันก็จะเข้าไปอุดรูหัวฉีด ทำให้เส้นพลาสติกไม่ออกมา นอกจากพลาสติกไม่ได้คุณภาพแล้ว อีกปัญหาที่เจอบ่อยคือ ลืม หมายความว่าผู้ใช้เปิดฮีทเตอร์ที่หัวพิมพ์ทิ้งไว้ ในขณะที่เส้นพลาสติกอยู่ในหัวฉีด แต่ไม่มีการพิมพ์งาน พลาสติกที่ค้างไว้ก็จะเริ่มไหม้ เพราะโดนหลอมอยู่จุดเดียว ไม่มีการเคลื่อนที่ของเส้นพลาสติก ทำให้พลาสติกกลายสภาพเป็นคาร์บอน แล้วก็ไปอุดที่รูหัวฉีด อีกสาเหตุที่ทำให้หัวตันอาจ เกิมมาจากกการ ระบายความร้อนที่หัวฉีดไม่ดีพอ ซึ่งปัญหานี้ มักเกิดขึ้นกับหัวฉีดที่เป็นประเภท All Metal หรือหัวฉีดที่ทำจากอลูมิเนียมหรือสแตนเลสทั้งตัว โดยไม่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ หัวฉีดแบบ All Metal นั้นมีข้อดีคือสามารถพิมพ์พลาสติกที่ใช้อุณหภูมิสูงๆ ได้ แต่ถ้าระบายความร้อนไม่ดี จะทำให้ความร้อนลามขึ้นไปด้านบน เมื่อความร้อนลามขึ้นไป เส้นพลาสติกก็จะนิ่ม ทำให้ไม่มีแรงดัน ที่จะดันออกมา เมื่อเส้นไม่ออก ก็จะทำให้เส้นค้างอยู่ตรงส่วนหัว ก็จะทำให้เส้นโดนเผาอยู่ที่จุดเดียว แล้วเกิดอาการหัวตันได้ วิธีการแก้ปัญหาของหัวพิมพ์ตัน ก็คือ ลองใช้สายกีตาร์แหย่เข้าที่รูหัวฉีด ในขณะที่หัวฉีดร้อน ถ้ายังไม่หาย ก็จำเป็นต้องถอดหัวฉีดออกมาทำความสะอาดแล้วประกอบเข้าไปใหม่

Leave a Comment