fbpx

Docly

งานพิมพ์ไม่ยอมติดหรือหลุดจากฐานระหว่างพิมพ์

Estimated reading: 1 minute

สำหรับ 3D Printer นั้น ฐานหรือเลเยอร์แรกของงานที่พิมพ์ นั้นถือว่าสำคัญมาก เพราะว่าหาก ฐานไม่มั่นคง ก็จะทำให้งานที่พิมพ์หลุดออกมาได้ระหว่างพิมพ์งาน ดังนั้นผู้ใช้ควรให้ความใส่ใจและความสำคัญกับเลเยอร์แรกที่พิมพ์ สาเหตุที่งานไม่ยอดติดกับฐานพิมพ์ อาจเกิดได้หลายสาเหตุ

  1. ฐานพิมพ์ไม่ได้ระดับ หรือเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง สาเหตุนี้จะเจอมากใน 3D Printer แบบ Cartesian เพราะว่าตัวฐานจะมีการขยับตลอดเวลาที่พิมพ์งาน เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วมีการแกะงานออกจากฐาน ก็จะทำให้ฐานเสียระดับได้ ส่วน 3D Printer แบบ Delta นั้น ปัญหานี้จะไม่ค่อยเกิด เพราะฐานพิมพ์นั้นอยู่กับที่ ไม่ได้ขยับตอนพิมพ์งาน ดังนั้นถ้าพิมพ์งานแล้วไม่ติด อย่างแรกที่ควรทำคือการปรับฐานให้ได้ระดับ ซึ่งตรงนี้ผู้ใช้สามารถปรึกษาผู้ที่ขายเครื่องให้ว่ามีวิธีการอย่างไร เพราะ 3D Printer แต่ละรุ่นอาจมีวิธีการปรับไม่เหมือนกัน
  2. หัวพิมพ์งานนั้นลอยจากฐานมากเกินไป อันนี้จะตรงข้ามกับปัญหากับหัวพิมพ์ชิดฐานเกินไป แต่การปรับค่าในส่วนนี้ จะเป็นในส่วนเดียวกันก็คือค่า Z-Offset ถ้าใน Cura ก็จะเป็น Initial Layer Thickness ซึ่งถ้าหัวพิมพ์อยู่ห่างเกิน ก็ให้ลดค่าในส่วนนี้ลงมา โดยแนะนำให้ลดที่ละ 0.05 มิล แล้วลองพิมพ์ดู
  3. อีกปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ก็คือพิมพ์งานชั้นแรก เร็วเกินไป ซึ่งถ้าพิมพ์เร็วเกิน เส้นพลาสติกจะไม่มีเวลาในการยึดกับฐาน ทางแก้ปัญหานี้ คือลดความเร็วในการพิมพ์เลเยอร์แรกลง ซึ่งโปรแกรมส่วนใหญ่นั้น จะมีให้ใส่ในค่านี้ โดยส่วนใหญ่จะมีหน่วยเป็น มิลลิเมตร/วินาที ถ้าตัวเลขยิ่งน้อย ยิ่งเดินช้า ในโปรแกรม Cura ส่วนนี้จะเรียกว่า Bottom Layer Speed บางโปรแกรมเรียก First Layer Speed ค่าที่เหมาะสมที่ผมใช้อยู่ จะอยู่ที่ 20 mm/sec ในบางโปรแกรมนั้นจะให้ใส่เป็น % ซึ่งจะคำนวนมาจากความเร็วเฉลี่ยที่ต้องการแล้วคูณด้วย % ที่ใส่เอาไว้
  4. การหดตัวของพลาสติกก็เป็นอีกสาหตุที่ทำให้เส้นพลาสติกไม่ติดกับฐานพิมพ์ อันนี้มักจะเกิดขึ้นกับพลาสติกที่มีการหดตัวมากเช่น ABS เป็นต้น เพราะพลาสติกเมื่อถูกความร้อนและถูกฉีดออกมา ถ้าเจอฐานที่เย็น ก็จะเกิดการถ่ายเทความร้อน ทำให้พลาสติกหดตัว พลาสติกหดตัว ในขณะที่ฐานพิมพ์ไม่ได้หดตัวตาม เส้นพลาสติกก็จะร่อนออกมา โดยธรรมชาติ ดังนั้น 3D Printer ที่มีฐานทำความร้อน ก็จะช่วยในเรื่องของการหดตัวได้ โดยปกติ เส้นพลาสติก PLA เป็นพลาสติกที่หดตัวน้อย จึงไม่จำเป็นต้องพิมพ์บนฐานที่มีความร้อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่หดตัว เพราะถ้าพิมพ์งานที่มีขนาดใหญ่ พลาสติก PLA ก็หดตัวได้เหมือนกัน ดังนั้นถ้ามี 3D Printer ที่มีฮีทเตอร์ที่ฐาน ก็ควรเปิดใช้ โดยอุณหภูมิที่ฐานสำหรับการพิมพ์ PLA นั้นจะอยู่ที่ 60-70 องศา ส่วนถ้าเป็น ABS นั้นจะอยู่ที่ 100 – 120 องศา นอกจากนั้น ควรที่จะอุ่นฐานเครื่องพิมพ์ก่อนพิมพ์งาน ไม่ใช่ว่าพิมพ์งานเลย เพราะว่ากว่าที่ฐานจะร้อนทั่วทั้งแผ่น ก็ต้องใช้เวลา ถ้าพิมพ์งานโดยที่ฐานยังร้อนไม่เต็มที่ พลาสติกก็จะหดตัวได้อีก นอกจากฐานที่ต้องร้อนแล้ว พัดลมที่ใช้เป่างานให้เย็น ก็ไม่ควรที่จะเปิดตอนพิมพ์ในเลเยอร์แรก ควรจะพิมพ์งานได้ซักระยะหนึ่งหรือประมาณ 1 มิลแล้วค่อยให้พัดลมเป่างานทำงาน สำหรับการพิมพ์ ABS นั้น พัดลมเป่างานไม่ควรเปิดเลยตลอดการพิมพ์ เพราะพลาสติก ABS นั้นหดตัวง่าย นอกจากนั้น ไม่ควรตั้ง เครื่องพิมพ์ 3 มิติให้โดนลม เพราะถ้ามีลมก็จะทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อย พลาสติกก็จะหดตัว และไม่เชื่อมติดกัน
  5. ใช้ตัวช่วยจำพวก กาวหรือเทป ติดที่ฐานพิมพ์ก่อนพิมพ์งาน สำหรับการใช้ตัวช่วยเหล่านี้ จะทำให้งานที่พิมพ์ยึดติดกับฐานได้มั่นคงและแน่นขึ้น ซึ่งการเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับประเภทพลาสติกที่ใช้พิมพ์ ซึ่งในตอนนี้ที่นิยมใช้ก็คือ สเปรย์ฉีดผม หรือไม่ก็เทปจำพวก Blue Tape หรือไม่ก็ Kapton Tape แต่ผมแนะนำว่า สเปรย์ฉีดผม ก็ใช้ได้แล้ว ราคาถูกว่าพวกเทปเยอะครับ เพราะเทปบางครั้งติดไม่ดีเป็นฟอง ก็ต้องติดใหม่ พอดึงออกมาก็อาจจะขาดได้
  6. นอกจากตัวช่วยด้านบนแล้ว ถ้าพิมพ์งานแล้วยังหลุดหรือไม่ติดกับฐาน ก็จำเป็นต้องให้โปรแกรมช่วยสร้างฐานที่เรียกว่า Brim หรือ Raft ขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการยึดติดกับฐาน ในส่วนของ Brim โปรแกรมจะทำการสร้างพังพืด ออกมาจากขอบของชิ้นงานตามที่เรากำหนด ซึ่งจะพิมพ์ประมาณ 2 เลเยอร์ ซึ่งตรงนี้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวด้านล่างให้มีเนื้อสัมผัสเยอะขึ้น เพื่อยึดติดกับฐาน พอพิมพ์เสร็จ เราก็ตัดออกได้ ในส่วนของ Raft นั้น โปรแกรมจำทำการสร้างแพ ขึ้นมาเพื่อรองรับงานพิมพ์ ซึ่งตัว Raft นั้นจะยึดติดได้ดีกว่า Brim แต่ขอเสียของ Raft ก็คือ ถ้าตั้งระยะะหว่าง Raft กับตัวงานไม่ดี ก็จะทำให้แกะงานออกจาก Raft ยาก หรือไม่ก็เป็นรอยเวลาแกะงานออกมา ซึ่งตรงนี้ในโปรแกรม จะมีให้ตั้งในส่วนของ Gap ระหว่างตัวงาน กับ Raft ควรตั้งค่าให้พอดี ในลักษณะที่ว่าแกะงานได้ โดยไม่เป็นรอย และงานยังติดกับตัว Raft ได้ โปรแกรม Cura เรียกในส่วนนี้ว่า Fisrt Layer Air Gap

Leave a Comment