EP6. การตั้งค่าในส่วนของ Shell Setting ในโหมด Custom (Advance)
ในส่วนหัวข้อของ Shell Setting จะเป็นในส่วนของการตั้งค่า เกี่ยวกับผนังชิ้นงานทั้งหมด ทั้งผนังด้านในและผนังด้านนอก รวมไปถึงความหนาของผนังด้านบนและด้านล่าง
Wall ในโปรแกรม Cura หมายถึงผนัง ซึ่งในโปรแกรม Slicer ตัวอื่นๆ อาจจะเรียกว่า Shell หรือ Perimeter
Wall Thickness
เป็นการตั้งค่าความหนาของผนัง สำหรับการตั้งค่า Wall ในโปรแกรม Cura นั้นสามารถตั้งได้ 2 วิธี
- Wall Thickness: ความหนาของผนังด้านข้างทั้งหมด มีหน่วยเป็นมิล
- Wall Line Count: จำนวนรอบที่พิมพ์ชิดกันในส่วนของผนังด้านข้างทั้งหมด มีหน่วยเป็นรอบ
ซึ่งหลักการในการคำนวนความหนาของผนังในโปรแกรม Cura จะใช้ Line Widht หรือความกว้างของเส้น ที่กำหนดในส่วนของ Quality แล้วคูณด้วยจำนวนรอบ เช่น Line Width ขนาด 0.4 มิล กำหนดพิมพ์ผนังจำนวน 3 รอบ จะได้ความหนาของผนังอยู่ที่ 1.2 มิลลิเมตร
สูตรหาความหนาผนัง = Wall Line Width x Wall Line Count

แต่ถ้ากำหนดความหนาเป็น 1 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อหารกับขนาดรูหัวฉีดแล้วจะไม่ลงตัว ตัวโปรแกรมจะทำการปัดเศษให้เป็นจำนวนเต็ม และให้ใกล้เคียงกับกับความหนาของผนัง เช่น ใส่ความหนา 1 มิล ตัว Wall Line Count จะปรับเป็น 2 ให้ การใส่ค่าความหนาของผนัง ควรจะเลือกอย่างใดอย่างนึง ไม่จำเป็นต้องกำหนดทั้ง 2 ตัว
ซึ่งในโปรแกรม Cura ถ้าผุ้ใช้กำหนดความหนาของผนังเป็นจำนวนรอบ ตัวโปรแกรมจะทำการ Disable ในส่วนของ Wall Thickness ให้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้จะเปลี่ยนค่าไม่ได้
Top / Bottom Thickness
ในส่วนความหนาของ Top และ Bottom นั้นก็สามารถตั้งค่าความหนาได้ 2 แบบเหมือนกันกับ Wall คือ ระบุเป็นหน่วยมิล หรือจะระบุเป็นจำนวนชั้นของเลเยอร์ ซึ่งการพิมพ์ Top กับ Bottom จะเป็นการพิมพ์แบบทึบหรือพิมพ์แบบเส้นชิดติดกันเป็นผนังแบบปิดเรียบ ซึ่งมีตัวแปรในการตั้งค่าดังนี้
- Top / Bottom Thickness: เป็นการตั้งค่าในส่วนของความหนาผนังด้านบนและด้านล่างให้เท่ากัน ซึ่งระบุความหนา เป็นหน่วยมิลลิเมตร การเปลี่ยนค่าในช่องนี้ จะมีผลกับค่าในช่อง Top Thickness และ Bottom Thickness
- Top Thickness: เป็นการตั้งค่าความหนาเฉพาะผนังด้านบน มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
- Top Layer: เป็นการตั้งค่าความหนาเฉพาะผนังด้านบน ซึ่งจะกำหนดเป็นจำนวนชั้น
- Bottom Thickness: เป็นการตั้งค่าความหนาเฉพาะผนังด้านล่าง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
- Bottom Layer: เป็นการตั้งค่าความหนาเฉพาะผนังด้านล่าง ซึ่งจะกำหนดเป็นจำนวนชั้น
การกำหนดความหนาของ Top และ Bottom นั้นสามารถทำได้ 2 แบบคือใส่ความหนา หรือจำนวนชั้น ซึ่งถ้าใส่เป็นความหนา ตัวโปรแกรม Cura จะคำนวนจำนวนชั้นให้เองโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าใส่ความหนา แล้วคำนวนจำนวนชั้นออกมาเป็นเศษ ตัวโปรแกรมก็จะใส่จำนวนชั้นให้ได้ใกล้เคียงกับความหนาที่ใส่มา
สูตรหาความหนา Top/Bottom = Top/Bottom Layer x Layer Height
Optimized Wall Printing Order
สำหรับค่าในช่องนี้ จะเป็นการให้เลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้ ซึ่งค่าในช่องนี้ จะเป็นการปรับลำดับในการพิมพ์ Wall หรือผนัง ซึ่งถ้าเปิดใช้ จะช่วยลดเวลาในการพิมพ์ลง เพราะโปรแกรมจะไปปรับลดการเดินหัวเปล่า หรือ Travel ลง เพราะตัวโปรแกรม Cura จะจัดการ พิมพ์ผนังให้ได้ความหนาที่ใส่มาให้เสร็จก่อนในแต่ละส่วน ก่อนที่จะย้ายให้หัวพิมพ์ไปพิมพ์ในส่วนอื่นๆ
Fill Gaps Between Wall
สำหรับความหมายของค่าในช่องนี้ คือการเติมเนื้อพลาสติกลงไปในช่องว่าง หรือช่องเล็กๆให้เต็ม ซึ่งจะทำให้ชิ้นงานในส่วนของผนังด้านบนและด้านล่างที่พิมพ์เสร็จออกมาแล้ว มีเนื้อเต็ม ไม่มีร่องหรือช่องว่างระหว่างพลาสติก ซึ่งถ้าจะเปิดใช้ให้เลือกเป็น Everywhere

Horizontal Expansion
ในส่วนของค่าในช่องนี้ จะเป็นส่วนของการชดเชยขนาดงานพิมพ์ เนื่องจากการหดตัวของเส้นพลาสติก ซึ่งตัวเลขในช่องนี้ สามารถใส่ค่า บวก หรือ ค่าลบ ก็ได้ สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ส่วนใหญ่เวลาพิมพ์งานออกมา อาจจะมีขนาดไม่เท่ากับแบบที่เขียนเอาไว้ ซึ่งอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ถ้าคิดว่า เครื่องที่ใช้อยู่ มีการปรับแต่งที่ดีแล้ว การหดหรือขยายตัว อาจจะมาจาก เส้นพลาสติกที่ใช้ ดังนั้นถ้าต้องการให้งานพิมพ์มีขนาดพอดี ก็อาจจำเป็นต้องให้โปรแกรม ทำการชดเชยค่าให้
ถ้าในกรณีที่โมเดลพิมพ์ออกมาใหญ่เกินไปข้างละ 1 มิล ก็ให้ใส่ค่า -1 ลงไป แต่ถ้ากลับกัน โมเดลพิมพ์ออกมาเล็กเกินไป 1 มิล ก็ให้ใส่ 1 ลงไปแทน ตัวโปรแกรมก็จะทำการชดเชยให้โดยอัตโนมัติ แต่ก่อนที่จะใช้ฟังค์ชั่นนี้ ควรจะทำการ Calibrate เครื่องพิมพ์เสียก่อน
ในทางกลับกัน ในส่วนของรูใน ตัวโปรแกรม Cura ก็มีค่าให้ตั้งในส่วนนี้โดยเฉพาะเรียกว่า Hole Horizontal Expansion ซึ่งการตั้งค่าจะกลับกัน ถ้ารูเล็กกว่าแบบที่เขียน ให้ใส่ค่าบวก แต่ถ้ารูใหญ่กว่าแบบที่เขียน ให้ใส่ค่าลบ
Enable Ironing
สำหรับฟีเจอร์นี้เป็นฟีเจอร์ ที่เอาไว้ทำผิวด้านบนสุดของชิ้นงาน ให้เรียบเหมือนกับงานฉีดพลาสติก ซึ่งจะใช้หลักการ ให้หัวพิมพ์ฉีดพลาสติกออกมาบางๆ และเส้นทางเดินของหัวพิมพ์จะถี่ขึ้น เพื่อให้ความร้อนของหัวฉีดไปรีดเส้นที่อยู่บนสุด ให้เรียบและเนียน ซึ่งการเปิดใช้ฟังค์ชั่นนี้ จะทำให้การพิมพ์งานนั้นนานขึ้น และเหมาะสำหรับโมเดล 3 มิติบางประเภทเท่านั้น เช่นกล่องใส่ของ หรือโมเดลที่มีพื้นผิวด้านบนขนาดใหญ่
