EP5. การตั้งค่าในส่วนของ Quality ในโหมด Custom (Advance)
ในส่วนของ Quality Setting จะประกอบไปด้วย Parameter ที่เกี่ยวกับคุณภาพชิ้นงาน ซึ่งค่าต่างๆ ส่วนใหญ่จะเน้นผิวภายนอก ที่เห็นด้วยตา เช่น ความละเอียดในการพิมพ์ และขนาดของเส้นที่ฉีด ซึ่งคำศัพท์ ที่ผมอยากจะเน้นและให้ทำความเข้าใจ ในส่วนของหัวข้อนี้
Initial หมายถึง ชั้นเริ่มต้นหรือชั้นแรก ถ้าเป็นโปรแกรม Slicer ตัวอื่นๆ เรียกว่า First Layer ถ้ามีคำว่า Initial ให้จำไว้ว่า ค่าในช่องนี้ จะเกี่ยวกับเลเยอร์ชั้นแรก ชั้นเดียว

Line Widht หมายถึง ความกว้างของเส้นที่ฉีดออกมา ซึ่งค่านี้ส่วนใหญ่จะต้องอ้างอิงกับรูหัวฉีด แต่สามารถปรับให้ใหญ่กว่าได้ แต่ห้ามมากเกิน เพราะจะทำให้เกิดอาการฉีดเส้นไม่ออก สำหรับ Line Widht จะไปสัมพันธ์กับค่า Exturion Rate หรืออัตตราการไหลตัว บางโปรแกรมจะเรียกว่า Flow Rate การตั้งค่า Line Width ก็ควรเอาให้เหมาะสม ไม่ควรตั้งมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการหัวฉีด ฉีดเส้นออกมาไม่สม่ำเสมอ เกิดจากการที่มอเตอร์ดันเส้น ต้องใช้กำลังมากในการดันเส้นลงผ่านหัวฉีดที่มีขนาดเล็ก ถ้ามอเตอร์ไม่สามารถดันเส้นลงมาได้ ก็จะเกิดอาการ Slip และตัวดันเส้นก็จะไปกัดเอาเส้นพลาสติกออก ทำให้เส้นออกมาไม่สม่ำเสมอ หรืออาจจะทำให้เกิดอาการหัวฉีดตัน หรือฉีดไม่ออก
Layer Height
สำหรับค่าตัวแรก ที่เรียกว่าเป็นค่าสำคัญที่สุด สำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ก็คือค่าความละเอียดต่อชั้น หรือ Layer Height ซึ่งค่าตรงนี้เป็นตัวกำหนดระยะห่างในการพิมพ์ ในแต่ละชั้น ยิ่งตัวเลขยิ่งน้อย ก็จะได้งานที่ละเอียด แต่จะใช้เวลาพิมพ์นาน ในทางกลับกัน ถ้าตัวเลขยิ่งเยอะ ก็จะได้งานที่หยาบ แต่จะพิมพ์ได้เร็วขึ้น สำหรับการเลือกความละเอียด จะต้องสัมพันธ์กับเส้นที่ใช้พิมพ์ด้วย เช่น PLA สามารถพิมพ์ที่ความละเอียด 0.05 มิลได้ แต่ถ้าใช้ ABS หรือ PETG พิมพ์งานตัวเดียวกันที่ความละเอียดเท่ากัน งานที่ได้จะไม่สวย เพราะตัวเส้นระบายความร้อนออกได้ไม่ดีเท่าพลาสติก PLA

สำหรับความละเอียดที่หยาบที่สุด ที่จะพิมพ์ได้ ต้องไปเกิน 80% ของรูหัวฉีด เช่น เครื่องพิมพ์ มีหัวฉีดขนาดรู 0.4 มิล ดังนั้น Layer Height ที่หยาบที่สุด ที่่จะพิมพ์ได้ ต้องไม่เกิน 0.4 x 80% = 0.32 มิล ถ้าเกินกว่านั้น เส้นระหว่างชั้นที่พิมพ์จะเกาะกันไม่ดี เพราะมีเนื้อพลาสติกไม่พอ ให้กดทับติดกัน
Initial Layer Height
ค่าในช่องนี้ จะเป็นตัวกำหนดความสูงระหว่างหัวพิมพ์กับฐานพิมพ์ในชั้นแรก หรือเลเยอร์แรก แค่ชั้นเดียว ซึ่งค่าตัวนี้มีไว้สำหรับตั้งให้เส้นที่ฉีดออกมาใกล้กับฐาน เพื่อให้เส้นออกมา มีขนาดความกว้าง มากกว่าเส้นในชั้นต่อๆไป เส้นในชั้นแรก จำเป็นต้องมีเนื้อพลาสติกออกมาให้มากกว่าชั้นอื่นๆเพราะ ต้องการให้งานที่พิมพ์ ติดอยู่กับฐานได้แน่นหนา ไม่หลุดระว่างพิมพ์
นอกจากนั้น ค่าตัวนี้ยังสามารถนำมาใช้ชดเชย ระยะห่างระหว่างหัวพิมพ์กับฐานได้ด้วย ในกรณี ที่หัวพิมพ์นั้นลอยหรือชิดกับฐานมากเกินไป ค่าตัวเลขยิ่งน้อย หัวพิมพ์จะยิ่งชิดกับฐานมากขึ้น ใช้สำหรับในกรณีที่หัวพิมพ์ฉีดพลาสติกออกมาแล้วไม่ติดฐาน ในทางกลับกัน ถ้าหัวพิมพ์ฉีดพลาสติกออกมาชิดเกินไป ก็ให้เพิ่มค่าในช่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้หัวพิมพ์ห่างจากฐานพิมพ์ แต่ไม่ควรตั้งมากเกินไป เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การที่เส้นพลาสติกฉีดออกมาแล้วไม่ยอดติดฐานพิมพ์ หรือติดแค่บางส่วน ส่วนใหญ่เป็นเพราะฐานพิมพ์ไม่ได้ระนาบ ซึ่งเกิดจากการปรับตั้งที่ไม่ดี ผู้ใช้ควรแก้ปัญหาที่จุดนี้ก่อน
Line Widht
ในส่วนของ Line Widht หรือความกว้างของเส้นที่ฉีดออกมา จะมีค่าให้ตั้งแบบแยกย่อยลงไปในแต่ละส่วนของงานพิมพ์ ซึ่งการเพิ่มและลดค่า Line Widht จะส่งผลต่อคุณภาพงาน เช่น
ลดค่า Line Widht ในส่วนของผิวด้านนอกหรือ Outer wall จะให้ทำให้ Detail ของงานมีเหลี่ยมและมุมคมชึ้น เห็นรายละเอียดมากขึ้น
เพิ่มค่า Line Widht ในส่วนของ Infill หรือโครงสร้างด้านใน ก็จะแข็งแรงและทำให้พิมพ์งานได้เร็วขึ้น
สำหรับค่าเริ่มต้นของ Line Width ควรจะมีค่าเท่ากับรูหัวฉีด เช่นหัวฉีด 0.4 ค่า Line Widht ก็ควรเท่ากับ 0.4 และไม่ควรตั้งมากเกิน
- Wall Line Widht: ความกว้างของเส้นผนัง สามารถตั้งได้ทั้ง ผนังด้านใน Inner Wall และผนังด้านนอก Outer Wall
- Top/Bottom Line Widht: ความกว้างของเส้นที่พิมพ์ชิดกัน ในส่วนของด้านบนและด้านล่างชิ้นงาน ซึ่งค่า Top ตัวนี้ จะแตกต่างกับ Top Surface เพราะ Top สามารถพิมพ์ได้หลายชั้น แต่ Top Surface จะมีแค่ชั้นเดียวและอยู่บนสุดเสมอ
- Infill Line Widht: ความกว้างของเส้นในส่วนของโครงสร้างด้านใน
- Initial Layer Line Widht: เป็นค่าสำหรับกำหนดความกว้างของเส้นที่จะพิมพ์ในเลเยอร์แรก หรือชั้นแรกแค่ชั้นเดียว ยิ่งเส้นมีขนาดใหญ่ ก็จะทำให้มีเนื้อพลาสติกออกมายึดติดกับฐานได้มากขึ้น เกาะแน่นขึ้น ไม่หลุดระหว่างพิมพ์

สำหรับการใส่ค่าในช่อง Initial Layer Line Widht มากเกินไป อาจจะทำให้งานที่พิมพ์มีอาการที่เรียกว่า Elephant Foot หรือเท้าช้าง ที่มีลักษณะฐานด้านล่างป้านออก แล้วค่อยลู่ลงมา ซึ่งทำให้ชิ้นงานที่พิมพ์ไม่ได้ขนาด อันนี้ต้องระวังด้วย เพราะอาจจะเกิดจากการตั้งค่า Initial Layer Line Widht ที่มากเกินไป
