EP13. การตั้งค่าในส่วนของ Build Plate Adhersion ในโหมด Custom (Advance)
สำหรับในการตั้งค่าในส่วนนี้ จะเกี่ยวกับฐานด้านล่างหรือชั้นแรกของงานพิมพ์ทั้งหมด ซึ่งเลเยอร์แรกของงานที่พิมพ์นั้น จะเป็นตัวตัดสิน ว่างานจะพิมพ์ต่อได้ไหม ถ้าฐานของงานไม่แน่น หรือมีพื้นผิวหรือมีเนื้อพลาสติกสัมผัสกับฐานน้อย ก็จะทำให้งานหลุดออกได้ระหว่างพิมพ์ และทำให้งานพิมพ์ไม่เสร็จ ซึ่งโปรแกรม Cura ก็จะมีตัวช่วย เพื่อให้ฐานของงานนั้นติดแน่น ซึ่งสามารถเลือกได้ 4 แบบด้วยกันได้แก่ Skirt / Brim / Raft และก็ None ซึ่งแต่ละค่าที่เลือก ก็จะต้องดูลักษณะชิ้นงานโมเดล 3 มิติที่พิมพ์ด้วย
สำหรับค่าค่างๆ ที่จะเลือก จะเปลี่ยนไปตามตัวเลือกในแต่ละตัว
Skirt
ในส่วนของ Skirt หรือเส้นตีขอบเขต จะเป็นส่วนที่โปรแกรมสั่งให้หัวพิมพ์ฉีดเส้นพลาสติกทิ้งออกมาก่อน ที่จะเข้าไปพิมพ์งาน ซึ่งข้อดีของการเปิดใช้งาน Skirt ก็คือ เป็นการทำให้แน่ใจว่างานชั้นแรกที่พิมพ์จะมีเส้นพลาสติกฉีดออกมาแน่นอน ถ้าไม่มีเส้นนี้ เครื่องพิมพ์ 3 มิติบางรุ่น อาจจะไม่สามารถฉีดเส้นออกมาได้ทัน ทำให้งานชั้นแรก อาจจะขาดหายไปในช่วงเริ่มต้น นอกจากนั้น การฉีด Skirt ยังเป็นการบอกอาณาเขตของงานที่พิมพ์ ว่าหัวพิมพ์จะไม่เดินออกนอกกรอบเส้นนี้ สำหรับค่าที่สามารถตั้งได้ในโปรแกรม Cura จะเป็นส่วนของจำนวนรอบที่ต้องการให้เส้นฉีดออกมา ส่วนระยะห่างระหว่าง Skirt กับตัวงาน ตัวโปรแกรม Cura จะเป็นคนจัดการให้
Brim
สำหรับ Brim คือการเพิ่มพื้นที่ผิวด้านล่างให้กับฐานของงาน โดยที่มีลักษณะคล้ายพังผืด ซึ่งจะแผ่ขยายออกไป ตามรูปของงาน ซึ่งการตั้งค่า Brim สามารถใส่ค่าได้ 2 แบบ คือ Brim Widht หรือความกว้างของเส้นที่ต้องการให้ตีแผ่ขยายออกไป มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร ซึ่งจะสัมพันธ์กับอีกค่า นั่นก็คือ Brim Line Count ซึ่งตรงนี้คือจำนวนรอบ ที่ต้องการให้พิมพ์แผ่ออกไป เวลาจะใช้งาน ก็อาจจะเลือกใส่ตัวใดตัวนึง
ในส่วนของ Brim Only On Outside ถ้ามีการเปิดใช้งาน ก็คือให้โปรแกรม ทำการพิมพ์ Brim ออกไปด้านนอกแค่ด้านเดียว ไม่ต้องพิมพ์ด้านใน ซึ่งตรงนี้ให้ลองนึกถึง เสาทรงกลม ที่มีรูด้านใน ถ้าเลือกเปิดใช้งาน Brim Only On Outside โปรแกรมก็จะพิมพ์ Brim ติดขอบเสาด้านนอก ด้านในจะไม่มี ในทางกลับกัน ถ้าไม่เลือก ก็จะมี Brim ทั้งด้านนอกและด้านใน
Raft
สำหรับ Raft หรือที่เรียกอีกอย่างว่าแพ ซึ่งจะเป็นพื้นที่พิมพ์ขึ้นมาจากพลาสติก ตัวชิ้นงานโมเดลที่จะพิมพ์ จะถูกพิมพ์อยู่บนแพตัวนี้อีกที ข้อดีของการใช้ Raft ก็คือ ช่วยให้งานที่พิมพ์ติดแน่นขึ้น ไม่หลุดออกระหว่างพิมพ์ เพราะพลาสติกสามารถเชื่อมกันได้ดีกับตัวมันเอง
เครื่องพิมพ์ 3 มิติบางรุ่น อาจจะใช้กระจกเป็นฐาน ถ้าพิมพ์ชิ้นงานลงตรงๆ งานก็อาจจะหลุดออกมาได้ เพราะเนื้องานไม่ได้เชื่อมกันกับกระจก ซึ่งจะแตกต่างจาก Raft ที่เส้นพลาสติกที่ฉีดออกมาเป็น Raft หรือ แพ จะมีความกว้างของเส้นที่มาก ทำให้มีเนื้อพลาสติกออกมายึดเกาะกับฐานได้ดี ข้อดีอีกอย่างคือ ช่วยชดเชย ฐานพิมพ์ที่ไม่ได้ระนาบ สำหรับเครื่องปริ้น 3 มิติบางรุ่น ที่ฐานพิมพ์บิดเพราะความร้อน การพิมพ์ Raft ก็จะเป็นการปรับฐานพิมพ์ให้ได้ระนาบ ส่วนข้อเสียของ Raft คือถ้าตั้งระยะของงานกับ Raft ไม่ดี ก็จะแกะงานออกยาก หรือแกะไม่ออก