EP11. การตั้งค่าในส่วนของ Cooling ในโหมด Custom (Advance)
ในส่วน Section นี้ จะเป็นการตั้งค่าเกี่ยวกับพัดลมเป่างาน เพื่อให้พลาสติกเย็นตัว โดยปกติ การเปิดพัดลมเป่าชิ้นงาน จะใช้กับพลาสติกบางประเภท เช่น PLA หรือ PETG แต่ความแรงของลมที่เป่าออกมา อาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งการเปิดพัดลมเป่างาน ส่วนใหญ่ ถ้าเปิดใช้แล้ว ตัวพัดลมจะปรับความแรงของลมโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเบาหรือแรง ขึ้นอยู่กับชั้นเลเยอร์ที่พิมพ์ ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ในส่วนของ Cooling
Enable Print Cooling
เป็นการเปิดใช้ พัดลมเป่าชิ้นงาน ซึ่งจะปรับความแรงของลม โดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับส่วนที่กำลังพิมพ์อยู่ สำหรับพลาสติกบางชนิด เช่น ABS / ASA / PC ก็อาจจะไม่จำ เป็นต้องเปิดพัดลมเป่าชิ้นงาน เพราะอาจจะทำให้พลาสติกหดตัวและ หลุดจากฐานพิมพ์ได้ หรือไม่งานพิมพ์อาจจะแยกชั้นไม่ยอมเชื่อมติดกัน สำหรับพลาสติกที่ต้องเปิดใช้พัดลมเป่างานก็จะมี PLA / PETG
ไม่มีข้อห้ามอันใดที่บอกว่า จะเปิดพัดลมเป่างานกับชิ้นงานที่ใช้พลาสติก ABS/ASA/PC จริงๆก็สามารถเปิดได้ แต่อาจจะต้องดูขนาดชิ้นงานเป็นหลัก ว่าใหญ่หรือเล็ก รวมถึงปริมาณชิ้นงานที่พิมพ์บนฐานพิมพ์ ว่ามีมากหรือน้อย ถ้ามีมาก ก็ไม่จำเป็นต้องเปิด เพราะมันมีช่วงเวลาที่พลาสติกสามารถเย็นตัวได้ ในขณะที่หัวพิมพ์กำลังพิมพ์งานชิ้นอื่นๆอยู่ แต่ถ้ามีจำนวนชิ้นเดียว อันนี้ อาจจะต้องใช้พัดลมเป่างาน ไม่อย่างนั้น พลาสติกอาจจะเย็นตัวไม่ทัน และเกิดอาการย้อย หรือเสียรูป โดยเฉพาะมุมที่แหลมๆ แต่การใช้พัดลมเป่างานกับพลาสติกจำพวกนี้ จะไม่เปิดที่ความเร็ว 100% เป็นอันขาด
Regular Fan Speed
ค่าในช่องนี้คือความแรงของพัดลมที่จะใช้เป็นประจำ สำหรับเป่าชิ้นงาน ซึ่งมีหน่วยเป็น % ถ้าใส่ 100% คือเปิดพัดลมเป่างานแรงสุด แต่ถ้าใส่ 0% คือปิดพัดลมเป่างานหรือไม่ใช้ สำหรับ Regular Fan Speed นั้นจะใช้คู่กับค่าในช่อง Regular / Maximum Fan Speed Threshold
Maximum Fan Speed
ในส่วนช่องนี้ จะมีหน่วยในการใส่เป็น % เหมือนกัน แต่ค่าในช่องนี้ คือค่าของพัดลมที่จะให้เปิดแรงสุดเป็นเท่าไหร่ ซึ่งค่าในช่องนี้จะทำงานพร้อมกันกับค่าที่อยู่ในช่อง Minimum Layer Time
Regular/Maximum Fan Speed Threshold
สำหรับค่าในช่องนี้ จะเกี่ยวกับเวลา มีหน่วยเป็นวินาที ซึ่งค่าในช่องนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่า เลเยอร์ไหนจะเปิดพัดลมที่ความแรงที่ตั้งในส่วนของ Regular Fan Speed ยกตัวอย่างเช่น ใส่ 20 วินาที หมายความว่า ถ้าโปรแกรม Cura คำนวนแล้วว่า เลเยอร์ที่กำลังพิมพ์อยู่ทั้งเลเยอร์จะใช้เวลามากกว่า 20 วินาทีเป็นต้นไป ให้เปิดพัดลมที่ความเร็วที่ใส่ในช่องของ Regular Fan Speed แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเลเยอร์นั้นพิมพ์น้อยกว่า 20 วินาที ให้เร่งพัดลมให้มากกว่า Regular Fan Speed แต่จะไม่เกินค่าในช่องของ Maximum Fan Speed ที่ใส่เอาไว้
Initial Fan Speed
เจอคำว่า Initial อีกแล้ว ซึ่งค่าในช่องนี้ ก็หมายถึงเลเยอร์แรก หรืองานชั้นแรก ซึ่งอยู่ในหัวข้อ Cooling ก็จะเกี่ยวกับพัดลมเป่างาน นั่นหมายถึง ความแรงของพัดลมที่จะเป่าในเลเยอร์แรก ซึ่งอันนี้ส่วนใหญ่ จะไม่เปิดใช้งาน ก็จะมีใส่ 0 ลงไป เพื่อปิดพัดลมเป่างาน สาเหตุเพราะว่า เลเยอร์แรก คือชั้นที่ต้องการให้พลาสติก ติดกับฐานได้แน่นที่สุด การเป่าพัดลม อาจจะทำให้เส้นพลาสติก ไม่ยึดติดกับฐาน ทำให้งานอาจจะหลุดระหว่างการพิมพ์ได้
Regular Fan Speed At Height / Regular Fan Speed At Layer
ช่องนี้จะเป็นค่าความสูงของชิ้นงาน ที่เมื่อพิมพ์ไปถึงความสูงนี้แล้ว ให้พัดลมเป่างานเริ่มทำงาน ที่ความแรงที่ตั้งอยู๋ในส่วนของ Regular Fan Speed ซึ่งค่าในช่องนี้ จะสัมพันธ์กับค่า Regular Fan Speed At Layer ซึ่งมีความหมายเดียวกัน แตกต่างกันแค่ หน่วย ที่จะใช้ ถ้าเป็น At Height ก็คือให้ใส่ความสูง แต่ถ้าเป็น At Layer ก็คือให้ใส่ชั้นเลเยอร์ที่ต้องการที่จะให้เปิดพัดลมเป่างาน
Minimum Layer Time
ในส่วนช่องนี้จะเป็น จะเป็นส่วนของเวลาขั้นต่ำ ในกรณีที่หัวพิมพ์สามารถพิมพ์งานในเลเยอร์นั้น ได้เร็วกว่าค่าที่กำหนดไว้ในช่องนี้ ซึ่งถ้าเร็วกว่า พัดลมเป่างานก็จะปรับความแรงในการเป่าชิ้นงาน ให้เป่าแรงสุด ตามค่าที่ได้ใส่เอาไว้ในช่อง Maximum Fan Speed เพื่อให้งานที่พิมพ์เย็นได้ไวขึ้น
Minimum Speed
ค่าในช่องนี้ จะเป็นค่าที่เกี่ยวข้องกับความเร็วในการพิมพ์ ซึ่งจะใช้เปิดงานก็ต่อเมื่อ เลเยอร์ที่กำลังพิมพ์อยู่เร็วกว่าค่าในช่อง Minimum Layer Time นอกจากพัดลมที่จะเป่าแรงขึ้นแล้ว หัวพิมพ์ยังเคลื่อนที่ช้าอีกด้วย เพื่อให้งานที่พิมพ์ในเลเยอร์นั้นเย็นตัวได้ทัน ซึ่งหัวพิมพ์จะพิมพ์งานตามค่าความเร็วที่กำหนดไว้ในช่องนี้ มีหน่วยเป็น มิลลิเมตร ต่อวินาที ตัวเลขยิ่งน้อย หัวพิมพ์ยิ่งเดินช้า
Lift Head
ในบางครั้ง การเปิดพัดลมให้แรง และพิมพ์ให้ข้า อาจจะยังไม่ช่วยให้งานเย็นทัน ดังนั้นโปรแกรม Cura เลยใส่ฟีเจอร์นี้มาให้ด้วย นั่นก็คือ Lift Head เมื่อเปิดใช้งาน หัวพิมพ์จะเคลื่อนที่ไปด้านข้างแล้วหยุดรอ ซึ่งจะทำงานก็ต่อเมื่อ เลเยอร์ที่กำลังพิมพ์อยู่พิมพ์เสร็จก่อน ค่าในช่องของ Minimum Layer Time หัวพิมพ์จะหยุดรอ จนกว่าจะถึงค่าในช่องของ Minimum Layer Time แล้วจึงค่อยกลับมาพิมพ์ต่อ